Posted on Leave a comment

โรคไขข้อกระดูกเสื่อม โรคที่คุณไม่ควรละเลย

โรคไขข้อกระดูกเสื่อมเป็นความผิดปกติของข้อที่พบได้บ่อยในช่วงเข้าสู่วัยกลางคนและพบได้เพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะของโรคเกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลงอย่างช้าๆจนเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของข้อ ซึ่งได้แก่ มีน้ำสะสมในข้อเพิ่มขึ้น กระดูกงอกผิดปกติ กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อหย่อนยาน การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดดังกล่าวจะทำให้เคลื่อนไหวข้อได้จำกัดรวมทั้งทำให้เกิดอาการปวดและบวมที่ข้อได้

โรคไขข้อกระดูกเสื่อมพบบ่อยในตำแหน่งของข้อที่ต้องรับน้ำหนักมากเช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นต้น ข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมมักทำให้เกิดความรำคาญเนื่องจากจะทำให้มีอาการปวดหรือไม่สบายข้อเมื่อต้องยืนหรือเดิน ในขณะที่ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมจะเป็นเหตุให้ปวดหลังและปวดต้นคอหรือคอแข็งตึงได้ แม้ว่าข้อเสื่อมจะพบในข้อที่ต้องรับน้ำหนัก แต่ก็สามารถพบที่ข้อต่างๆทั่วร่างกายได้โดยเฉพาะข้อที่เคยได้รับการบาดเจ็บ มีการติดเชื้อ หรือเคยมีข้ออักเสบนำมาก่อน สำหรับผู้ป่วยข้อนิ้วมือเสื่อมจะมีอาการปวด ชา หรือแข็งตึงขยับนิ้วลำบาก และตรวจพบก้อนหรือปุ่มกระดูกโตขึ้นที่บริเวณข้อนิ้วมือด้วย
ส่วนใหญ่อาการปวดของโรคข้อเสื่อมมักเกิดในระหว่างที่มีการใช้งานของข้อและจะดีขึ้นเมื่อได้พัก อาจมีอาการฝืดตึงข้อช่วงสั้นๆไม่นานเกินกว่าครึ่งชั่วโมงในช่วงเช้าหลังตื่นนอนหรือภายหลังอยู่ในอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งนานๆเช่น หลังจากขับรถ เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่มีอาการรุนแรงมากก็อาจมีอาการปวดข้ออย่างมากและรุนแรงเมื่อใช้งาน รวมทั้งขาดความมั่นคงหรือเสถียรภาพของข้อได้

โรคไขข้อกระดูกเสื่อม

โรคไขข้อกระดูกเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตามปกติภายในข้อประกอบไปด้วยเยื่อบุข้อ น้ำไขข้อ และกระดูกอ่อนผิวข้อ กระดูกอ่อนผิวข้อจะทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวดูดซับแรงกดภายในข้อและป้องกันมิให้กระดูกที่อยู่ภายใต้กระดูกอ่อนกระแทกกับกระดูกอีกฝั่ง หากกระดูกอ่อนผิวข้อเหล่านี้ถูกทำลายไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตามน้ำหนักหรือแรงกดที่กระทำกับข้อ ก็จะส่งผลให้กระดูกใต้ต่อกระดูกอ่อนผิวข้อสัมผัสกัน กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อถูกยืดเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดตามมา ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย แต่ปัจจัยที่น่าจะมีส่วนร่วมทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายได้แก่

  1. น้ำหนักตัว การที่มีน้ำหนักตัวมากจะส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อที่รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  2. กิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้ข้อต้องรับแรงกดมากจนเกินไปเช่น การนั่งคุกเข่า หรือนั่งพับเพียบ
  3. ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติข้อและกระดูกอ่อนผิวข้ออ่อนแอ
  4. อายุ อายุมากมีโอกาสพบโรคข้อเสื่อมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน เนื่องจากผู้สูงอายุบางรายก็ไม่พบโรคข้อเสื่อม

ใครมีโอกาสเป็นโรคไขข้อกระดูกเสื่อมได้บ้าง

จริงๆแล้วโรคข้อเสื่อมสามารถพบได้ทุกวัย แต่พบในผู้สูงอายุได้บ่อยกว่ามาก จากการศึกษาพบว่าผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี ตรวจพบลักษณะข้อเสื่อมจากภาพถ่ายรังสีได้ร้อยละ 70 แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีอาการผิดปกติ โรคข้อเสื่อมพบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชายโดยเฉพาะข้อเข่าเสื่อมและข้อนิ้วมือเสื่อม

การรักษาโรคไขข้อกระดูกเสื่อม

การวินิจฉัยโรคไขข้อกระดูกเสื่อม

ผู้ที่สงสัยว่าน่าจะเป็นโรคไขข้อกระดูกเสื่อมคือผู้ที่มีอาการปวดข้อในขณะที่มีการใช้งาน แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายพบปุ่มกระดูกบริเวณข้อ ข้อบวมขึ้น มีเสียงลั่นในข้อเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อ กล้ามเนื้อรอบข้อลีบหรืออ่อนแรง และข้อขาดความมั่นคง โดยภาพถ่ายรังสีที่ผิดปกติจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น อย่างไรก็ตามบางรายมีความจำเป็นต้องตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยแยกว่าไม่ได้เป็นโรคอื่นๆ

โรคไขข้อกระดูกเสื่อมรักษาอย่างไร

เป้าหมายของการรักษาคือ ลดอาการปวดและรักษาการทำงานของข้อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ การรักษาจึงไม่เพียงแค่ให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเท่านั้น แต่จะต้องรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย สำหรับผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมรุนแรงการรักษาด้วยการผ่าตัดจะมีบทบาทสำคัญเพื่อทำให้การทำงานของข้อดีขึ้นได้

1. การทำกายภาพบำบัด

การรักษาที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้อเสื่อมได้แก่ การออกกำลังกายโดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อ การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง และการใช้ความร้อน สำหรับการบำบัดด้วยการทำสปา การนวด หรือการฝังเข็มนั้นพบว่าช่วยบรรเทาอาการปวดในระยะสั้นๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้อเสื่อม

2. การรักษาทางยา

ในปัจจุบันมียาที่ใช้รักษาโรคข้อเสื่อมหลายรูปแบบ ทั้งชนิดทาภายนอก ฉีดเข้าข้อและรับประทาน ยาทาภายนอกได้แก่ เจลที่ทำจากส่วนประกอบของพริกหรือ capsaicin gel ยารับประทานได้แก่ ยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดและลดอาการข้อบวม สำหรับอาการปวดที่รุนแรงอาจต้องพึ่งยาบรรเทาอาการปวดกลุ่มอนุพันธ์ของมอร์ฟีน สำหรับการฉีดยาสเตียรอยด์หรือน้ำไขข้อเทียม (hyaluronic acid) นั้นจะมีประโยชน์ในโรคข้อเสื่อมบางชนิดและในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

3. การผ่าตัด

แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในผู้ที่มีการทำลายของข้ออย่างมากหรือมีการสูญเสียการทำงานของข้อแล้วเท่านั้น สำหรับอาหารเสริมที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมซึ่งมีอยู่หลายประเภทนั้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว

วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไขข้อกระดูกเสื่อมได้อย่างไร

โรคไขข้อกระดูกเสื่อมเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมสามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมขึ้นได้ เช่น การปรับเตียงให้สูงขึ้น เปลี่ยนจากส้วมซึมชนิดนั่งยองๆเป็นชักโครกแทน เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการทำให้ข้อบาดเจ็บซ้ำๆหรือการกระทบกระแทกต่อข้อ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรงขึ้น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาจะมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีรูปร่างอ้วนการลดน้ำหนักลงจะช่วยลดอาการปวดและชะลอการทำลายข้อลงได้


arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาดหนึ่งในอาการบาดเจ็บที่นักกีฬาเป็นกันมากรองจากข้อเท้าคือ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป หากออกกำลังหรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวแบบบิดหมุนตัวแล้วเกิดการเสียหลักล้ม อาทิ ฟุตบอล บาสเกตบอล แบตมินตัน สกี เป็นต้น ซึ่งการรักษาต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติหรือสงสัยว่าเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดควรรีบปรึกษาแพทย์และทำการรักษาโดยเร็วเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีแบบเดิม

เอ็นไขว้หน้าเข่าคืออะไร สำคัญอย่างไร

เอ็นไขว้หน้า เป็นหนึ่งในเอ็นหลักของเข่า อยู่ลึกเข้าไปในบริเวณส่วนกลางของข้อเข่า ช่วยรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว มีหน้าที่ป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า เมื่อเอ็นไขว้หน้าขาด จะได้ยินเสียงลั่นในข้อ และมีอาการเข่าบวม และเลือดออกในหัวเข่า ต้องรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด หากต้องรักษาด้วยการผ่าตัดจำเป็นจะต้องรักษาควบคู่การทำกายภาพบำบัดเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดนั้น หากไม่รีบรักษาจะส่งผลให้เข่าเสื่อมก่อนวัย

เอ็นไขว้หน้าเข่า

เอ็นไขว้หน้าเข่าบาดเจ็บพบได้บ่อยหรือไม่?

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาดเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยในสหรัฐอเมริกา มีการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าปีละประมาณ 200,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พบบ่อยในช่วงอายุ 15-25 ปี ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีการผ่าตัดส่องกล้องสร้างเอ็นไขว้หน้าปีละมากกว่า 100 ราย.
 เอ็นไขว้หน้าขาดมักมีสาเหตุจากการเล่นกีฬาและเกิดการบิดหมุนของหัวเข่าที่รุนแรง ทำให้เส้นเอ็นเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดได้

สาเหตุที่เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

  • การบาดเจ็บที่เกิดจากการปะทะ 
    เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในผู้ที่มีปัญหาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ได้แก่
    – การบิดของเข่าเมื่อเกิดการปะทะหรือเสียบ
    – การกระโดดหรือรีบยกเท้า
  • การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ 
    มักมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อที่ตึง ไม่ยืดหยุ่น หรือไม่แข็งแรง ทำให้เข่าบาดเจ็บ แต่มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือสะสมมากกว่าเป็นการกระแทกแล้วฉีกขาดในทันที

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจะมีอาการอย่างไร?

โดยปกติเอ็นไขว้หน้ามักเกิดในช่วงที่เล่นกีฬาและมีการบิดหมุนของหัวเข่าที่รุนแรง ผู้ที่เอ็นฉีกขาดบางคน ได้ยินเสียงดังบริเวณหัวเข่าเหมือนมีบางสิ่งขาด หลังจากนั้นจะมีอาการปวดบวมบริเวณเข่าที่มีอาการ มักจะเดินลงน้ำหนักไม่ได้ หรือได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ แต่มีผู้ป่วยบางส่วนไม่ได้มาพบแพทย์ในช่วงแรก
หลังจากเอ็นหัวเข่าฉีกขาด อาการปวด อักเสบบริเวณหัวเข่าจะค่อยๆดีขึ้น อาการปวด บวมค่อยๆลดลง โดยทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง โดยไม่รู้สึกผิดปกติ แต่จะมีอาการเวลาที่หัวเข่าต้องบิดหมุน เช่น เดินเร็ว ขึ้น/ลงบันได วิ่ง เล่นกีฬาเป็นต้น

การรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

สำหรับการรักษาเอ็นไข้หน้าเข่าเบื้องต้น และต้องไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

  • นอนนิ่ง ๆ อย่าพยายามขยับ รอคนมาช่วย
  • ประคบเย็นให้เร็วที่สุด
  • ทิ้งเวลาสักพัก แล้วลองขยับเข่า งอเข่า เหยียดเข่า โดยค่อย ๆ ลงน้ำหนัก
  • สังเกตว่าเจ็บบริเวณใด บวมทันทีหรือไม่ มีเสียงฉีกขาดของเอ็นดังป๊อปขณะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
  • ถ้าปวดมากจนขยับไม่ได้ ต้องดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มี แล้วพันผ้ายึดให้แข็งแรง
  • หากข้อเข่าผิดรูป บิดเบี้ยว อย่ากด ดัน ดึง หรือปรับเข้าที่เอง ให้ดามจนกว่าจะถึงมือแพทย์

การรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดทางการแพทย์

สำหรับการรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด แพทย์จะเริ่มจากการตรวจร่างกาย ซักประวัติ เอ็กซเรย์ หรือทำ MRI Scan โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นถ้าผู้ป่วยมีอาการเข่าบวมทันที บ่งบอกว่าอาจมีอะไรฉีกขาดในเข่าแล้วมีเลือดออก จากสถิติแล้วกว่า 80% มักเป็นเอ็นไขว้หน้าขาด และกว่า 60% ของเอ็นไขว้หน้าฉีกจะมีหมอนรองกระดูกเข่าฉีกร่วมด้วย ในกรณีนี้แพทย์มักทำการใส่เฝือกอ่อนและให้ยาลดการอักเสบประมาณ 1 สัปดาห์ จนเมื่ออาการบวมและการอักเสบเฉียบพลันลดลง แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อแก้ไขในลำดับต่อไป

ต้องผ่านตัดหรือไม่?

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีภาวะเอ็นไขว้หน้าขาด ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ แต่อาจจะเกิดภาวะข้อเข่าเคลื่อน) ในกิจกรรมที่ต้องมีการบิดหมุนของหัวเข่า และที่สำคัญผู้ที่มีภาวะเอ็นไขว้หน้าขาดเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองเข่าและกระดูกอ่อนหัวเข่า ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันสมควร  การรักษาโดยการไม่ผ่าตัดจึงเหมาะสมกับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการทำกิจกรรมที่ใช้หัวเข่ามากนัก และสามารถปรับพฤติกรรมตนเองให้เหมาะกับเข่าที่ไม่สามารถบิดหมุนรุนแรง  ส่วนการรักษาโดยการผ่าตัดก็จะเหมาะสำหรับผู้ป่วยอายุน้อย และต้องการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน และ กีฬาในระดับใกล้เคียงกับก่อนการบาดเจ็บ

เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าเข่าที่ฉีกขาดมีแรงดึงในตัวเอ็น ส่งผลให้เมื่อฉีกไปแต่ละปลายของเอ็นจะหดตัวห่างจากกันไปเรื่อย ๆ การสมานของเอ็นด้วยตัวเองจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจึงเป็นอีกทางเลือกในการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง เพราะ

  • ได้ผลดี
  • หายเร็ว
  • งอเข่าได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก
  • ฟื้นตัวไวเมื่อทำกายภาพบำบัด
  • โดยในการเดิน การใช้ไม้ค้ำยันจะแตกต่างตามอวัยวะที่บาดเจ็บ มีตั้งแต่ไม่ใช้เลยจนถึงใช้เต็มที่ 4 สัปดาห์

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

เข่าบวมน้ำเกิดจากอะไร? สาเหตุและการรักษา

กิจกรรมออกกำลังกาย หรืออบัติเหตุ ที่เกี่ยวกับเข่าโดยจรงอาจทำให้เข่าเกิดอาการบวมน้ำขึ้นมาได้วันนี้ทาง arukou ขอแนะนำให้รู้จักกับเข่าบวมน้ำ สาเหตุและการรักษาได้ดังนี้

เข่าบวมน้ำ สาเหตุ

เข่าบวมน้ำ

เป็นสภาวะของการสะสมน้ำหล่อเลี้ยงในหัวเข่าผิดปกติ
แต่เดิมหัวเข่าจะมีน้ำไหลเวียนเข้าออกอยู่ตลอดเวลาเป็นการหล่อลื่นข้อต่อในร่างกาย เมื่อหัวเข่าต้องแบกรับภาระมากขึ้น จะเกิดการเสียดสีของกระดูกหัวเข่ากับหมอนรองกระดูกเข่า นำไปสู่การอักเสบของกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณเข่าและเกิดการสะสมน้ำในหัวเข่า การสะสมน้ำในหัวเข่านั้นอาจมีอาการเจ็บเข่าหรือ งอเข่าไม่ค่อยได้เนื่องจากอาการเจ็บและอาการตึงบริเวณรอบเข่า

อาการของเข่าบวมน้ำ

โดยอาการที่แสดงคือจะมีอาการเข่าบวมใหญ่ขึ้น ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่บางคนก็เข่าอาจจะบวมไม่มากแต่มีอาการปวดขณะงอหรือยืดเหยียดเข่า บางคนก็มีอาการบวมแดงรอบๆ ข้อเข่า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมีการบวมแดงทางด้านหน้า เพราะผิวหนังทางด้านหน้าข้อเข่าจะบาง บางรายทก็จะคลำได้ก้อนที่ด้านหลังหัวเข่า เนื่องจากเวลาเข่าสร้างสารน้ำขึ้นมาจะดันออกไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะติดลูกสะบ้า น้ำจึงต้องดันออกมาด้านหลัง เพราะด้านหลังจะเป็นแผ่นแคปซูลหุ้มข้อ จึงเกิดเป็นก้อนลักษณะคล้ายลูกปิงปองขึ้นมาอันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งลักษณะของอาการเข่าบวมน้ำเช่นกัน รวมไปถึงการมีเสียงดังที่ข้อเข่าขณะที่มีการเคลื่อนไหวข้อเข่าด้วย

สาเหตุที่เกิดเข่าบวมน้ำ

ก่อนอื่นเลยเราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของสรีระของข้อเข่าก่อน ซึ่งในข้อเข่านั้นมีอวัยวะสำคัญอันเป็นโครงสร้างที่ให้ความมั่นคงของข้อเข่า อยู่ 5 ชนิด คือ กระดูกอ่อนรองข้อเข่า  เอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลัง หมอนรองกระดูก และ เยื่อหุ้มข้อ เมื่อไหร่ที่เกิดอันตรายกับอวัยวะเหล่านี้ หรือเกิดการอักเสบของโครงสร้างทั้ง 5 นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เข่าก็จะทำการป้องกันตนเอง จึงกระตุ้นให้เยื่อหุ้มข้อ สร้างสารน้ำขึ้นมาเพื่อป้องกันตนเอง ให้นึกถึงการตั้งครรภ์ของคุณสุภาพสตรีที่มีการสร้างน้ำคร่ำป้องกันตัวเด็กไว้ ตัวน้ำที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะช่วยลดแรงกระทำจากภายนอก ข้อเข่าก็เป็นเช่นนั้นไม่ต่างกัน ดังนั้น ถ้าถามว่าสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เข่าสร้างสารน้ำขึ้นและนำไปสู่อาการเข่าบวมน้ำก็สามารถอธิบายสาเหตุใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  1. เกิดจากอุบัติเหตุ เป็นสาเหตุใหญ่หลักๆ ที่ทำให้มีอาการเข่าบวมน้ำและต้องมาพบแพทย์มากที่สุด เมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะจากการขับขี่ การพลักตกหกล้ม อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดที่โครงสร้างทั้ง 5 ของข้อเข่าที่กล่าวมา หากรุนแรงมากก็จะมีเลือดออกตามมาอันนำไปสู่อาการเข่าบวมน้ำได้
  2. เกิดจากการระคายเคืองและอักเสบจากโรคบางชนิด เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาท์ โรคซูโดเกาท์ และ โรคพุ่มพวง (SLE) เป็นต้น ปัจจัยจากโรคเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดเข่าบวมน้ำได้เช่นกัน
  3. เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย อย่างกรณีข้อเข่าเสื่อมจากอายุที่มากขึ้นอย่างนี้เป็นต้น

การรักษาเข่าบวมน้ำ

แนวทางการรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการใช้วิธีเจาะเอาน้ำออก การประคบความร้อนที่เข่า ออกกำลังเสริมกล้ามเนื้อบริเวณเข่า และลดน้ำหนัก เป็นต้น ในบางกรณีต้องเข้ารับการผ่าตัดเข่า เป็นต้น

การเจาะเอาน้ำออก ถ้าอาการอักเสบไม่หายน้ำก็จะมีการสะสมในเข่าอีก (บางรายต้องเจาะเดือนละครั้ง ถ้าปล่อยไว้นานวันหัวเข่าก็เสื่อมเร็วกว่าปกติ)
การผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของน้ำในเข่า เช่นถ้าหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือเสียความยึดหยุ่น นั่นหมายความว่าความแข็งแรงของข้อเข่าลดลง ก็จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนเข่าเทียม เข่าเทียมนั้นไม่สามารถทดแทนของเดิมได้ เช่น ความยืดหยุ่นไม่สามารถงอเข่าได้อย่างธรรมชาติ หัวเข่าเทียมนั้นยังจะต้องรับภาระเหมือนเดิมหลีกเลียงไม่ได้ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ความคงทนของหัวเข่าเทียมก็จะลดลงและมีข้อจำกัดกับอายุการใช้งาน โดยทั่วไปจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 10 ปี ในกรณีที่ใช้อย่างระมัดระวัง
อาการหลังการผ่าตัด บาดแผลที่เกิดขึ้นทำให้ร่างกายต้องเสริมต่อเนื้อเยื่อบริเวณกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่า ทำให้กล้ามเนื้อแข็งตัว อาการเจ็บเข่าก็อาจจะมีอยู่ การงอเข่าจะไม่สามารถทำได้เหมือนก่อนเข้ารับการผ่าตัด และต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องและใช้เวลาพักฟื้น 3-4 เดือน


arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

หมอนรองเข่า อวัยวะสำคัญในการรับแรงกระแทก

หมอนรองเข่า เข่าบวม

การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา อุบัติเหตุ หรือแม้กระทั้งจังหวะบิดหมุดผิดท่า อาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า หรือปวดบริเวณข้อพับ ซึ่งแม้อาการเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ และยังสามารถเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตมปกติ แต่หากยังฝืนใช้งานเข้าต่อเนื่องโดยไม่รับการรักษา ข้าเข่าของคุณอาจเสื่อมสภาพเร็วได้

หมอนรองเข่า คือ

“หมอนรองเข่า” อวัยะสำคัญในการรับแรงกระแทก

หมอนรองเข่า เป็นอวัยวะที่มีความยืดหยุ่นคล้ายยาง รูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว อยู่ระหว่างกระดกตันขา และกระดูกหน้าแข้ง ทำหน้าที่รับและกระจายแรงกระแทก จากการเดิน วิ่ง หรือ กระโดด หากหมอนรองเข่าเกิดการฉีกขาด แรงกระแทกระหว่างกระดูกสองชิ้น ทำให้ข้อเข้าเสื่อมสภาพเร็วขึ้นหรือที่เรียกกันว่า “เข่าเสื่อม” นั้นเอง

อะไรที่ส่งผลกับหมอนรองเข่า

  • จังหวะปิดหมุนอย่างกะทันหันของข้อเข่า โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการเล่นกีฬา
  • อุบัติเหตุที่เกิดการปะทะโดยตรงบริเวณข้อเข่า
  • การนั่งยองๆ หรือจังหวะลุกนั่ง ที่มีการปิดหมุนของเข่า
  • เกิดร่วมกับการบาดเจ็บของเส้นเอ็นในข้อเข่า เช่น เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด
  • สังเกตเลย! อาการเหล่านี้เป็นสัญญานของหมอนรองเข่าบาดเจ็บ
  • มีอาการปวดบริเวณด้านหน้าเข่า หรือบริเวณหลังข้อพับ
  • อาจได้ยินเสียงเกิดขึ้นในข้อเข่า ในจังหวะที่เกิดการบาดเจ็บ
  • เมื่องอหรือเหยียดเข่า อาจรู้สึกว่ามีอวัยวะบางอย่างในข้อเข่าเคลื่อนไปมา
  • สามารถเดินหรือเล่นกีฬาได้ แต่เมื่อใช้งานเข้าต่อเนื่อง อาจเกิดอาการบวม เข่าอ่อน หรือทรุดได้

หากอาการเหล่านี้ ไม่หายภายในระยะเวลา 1 เดือน ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ หมอนรองเข่าจะฉีกขาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆกระทั่งหลวมและเคลื่อนมาขวาง ทำให้เข่างอหรือเหยียดเข่าได้ไม่สุด

การรักษาหมอนรองเข่า

แพทย์จะตรวจวินิจฉัย และเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เพื่่อให้เห็นภาพของข้อเข่าได้โดยละเอียด ทั้งเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หมอนรองเข่า และกระดูกอ่อนผิวข้อ โดยหากหมอนรองเข่าฉีกขาดไม่มากนัก แพทย์อาจแนะนำให้ประคบเย็น นอนยกขาสูง ทานยาลดการอักเสบ และการพักการใช้งานข้อเข่า ด้วยการใส่เฝือกอ่อน หรือ ใช้ไม้เท้าช่วยเดิน เพื่อให้หมอนรองเข่าได้ฟื้นตัวเร็วที่สุด แต่หากจำเป็องต้องผ่าตัด ปัจจุบันมาตารฐานการผ่าตัดหมอนรองเข่า ใช่วิธีผ่าตัดโดยการส่องกล้อง ซึ่งเปิดแผลขนาดเล็กๆ จึงเกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและอวัยวะใกล้เคียงค่อนข้างน้อย โดยศัลยแพทย์จะส่องกล้องเข้าไปเพื่อตรวจสอบบริเวณที่มีการบาดเจ็บ จากการนั้นจะใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษ เข้าไปเย็บหมอนรองเข่าที่ฉีกขาดเข้าด้วยกัน หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดินประมาณ 1 เดือน เพื่อให้หมอนรองเข่ารับน้ำหนักน้อยที่สุดและสนามตัวดีที่สุด จากนั้นต้องทำกายภาพบริหารข้อต่อเนื่อง เพื่อฝึกการเคลื่อนไหวของข้อเข่าและเพื่อให้กลัามเนื้อข้้อเข่าแข็งแรง สามารถกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติอีกครั้งนั่นเอง


arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

ไขข้อเข่าอักเสบ อย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นโรคเรื้อรังได้!

ไขข้อเข่าอักเสบ

โรคไขข้ออักเสบชนิดต่างๆ

โรคไขข้ออักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่านิ่งนอนใจ อาจะเป็นโรคเรื้อรังได้ ซึ่งส่วนมากอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าได้ ทาง Arukou ได้รวบรวมข้อมูล โดยโรคไขข้ออักเสบที่พบได้บ่อยมีดังนี้

ข้อเข่าอักเสบ

โรคข้อเข่าเสื่อม 

โรคข้อเสื่อม คือหนึ่งในโรคของกลุ่มโรคไขข้ออักเสบที่พบได้ทั่วไป เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่ปลายกระดูกซึ่งเป็นส่วนของข้อต่อ โดยเฉพาะข้อต่อบริเวณ เข่า มือ เอว และกระดูกสันหลัง ซึ่งหากเกิดขึ้นกับข้อเข่า อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวเข่าหรือเมื่อใช้แรงกดลงไปบริเวณเข่า ขยับเข่าได้ลำบาก บางครั้งอาจคลำได้ก้อนแข็ง หรือที่เรียกว่าหินปูนเกาะกระดูก (Bone Spurs) บริเวณข้อเข่า โรคข้อเสื่อมมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากนั้น อายุที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน อาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อมได้เช่นกัน

โรคข้ออักเสบติดเชื้อ

โรคข้ออักเสบติดเชื้อ คือการติดเชื้อบริเวณข้อต่อ อาจเกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสเลือดซึ่งมาจากส่วนอื่นของร่างกาย หรือเกิดจากเชื้อโรคที่เข้ามาทางบาดแผลบริเวณข้อต่อโดยตรง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตามข้อต่อส่วนต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มักพบในข้อเข่าเป็นหลัก โดยการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้ข้อต่อบริเวณที่ติดเชื้อบวม แดง รู้สึกร้อน ผู้ป่วยใช้งานข้อต่อที่ติดเชื้อได้ลำบากและอาจมีไข้

โรคข้อรูมาตอยด์

เป็นการอักเสบชนิดเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นตามข้อต่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งหากเกิดขึ้นในข้อต่อข้างใดข้างหนึ่ง มักพบว่าข้อต่ออีกข้างเกิดการอักเสบด้วยเช่นกัน โดยเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบคุ้มกัน เมื่อเม็ดเลือดขาวเลือกทำลายเยื่อบุผิวข้อต่อแทนที่จะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรีย (Autoimmune Disease) เยื่อบุผิวข้อต่อที่ถูกทำลายจะเกิดการอักเสบและมีลักษณะหนาขึ้น จนไปทำลายกระดูกและกระดูกอ่อนภายในข้อต่อ อีกทั้งยังส่งผลให้เส้นเอ็นภายในข้อต่ออ่อนแอ ทำให้ข้อต่อผิดรูปร่าง อาการทั่วไป คือ รู้สึกเจ็บและร้อนที่ข้อต่อ ข้อต่อบวม มีอาการข้อติด โดยเฉพาะในช่วงเช้า รู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ และน้ำหนักลดลง โดยในระยะแรก มักเกิดกับข้อต่อขนาดเล็ก เช่น ข้อต่อนิ้วมือ นิ้วเท้า และขยายไปยังข้อต่อส่วนอื่นในร่างกาย เช่น เข่า สะโพก เอว ไหล่ ซึ่งในบางครั้งอาจส่งผลไปถึงอวัยวะอื่นด้วย เช่น ตา ปอด หัวใจ ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ออกมายืนยันถึงสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองและส่งผลให้เกิดโรคข้อรูมาตอยด์ แต่พบว่าพันธุกรรม พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบของผู้ป่วยอาจไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น

โรคเกาท์ 

คือโรคไขข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตกรดยูริคในปริมาณที่มากเกินหรือไตไม่สามารถขับกรดยูริคได้ปกติ ทำให้กรดยูริคเกิดการสะสมกลายเป็นผลึกเล็ก ๆ ซึ่งส่วนมากจะเกิดภายในช่องข้อต่อ ส่งผลให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ และรู้สึกเจ็บรุนแรงบริเวณข้อต่อ ข้อต่อแดงและบวม  เกิดขึ้นในข้อต่อเกือบทุกส่วนในร่างกาย และหลายจุดพร้อมกัน ส่วนใหญ่มักเกิดเกาท์ที่นิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า เข่า

โรคเกาท์เทียม 

มีสาเหตุการเกิดคล้ายกับโรคเกาท์ แต่แตกต่างกันที่ชนิดของสารต้นกำเนิดผลึก โดยเกาท์เทียมเกิดจากสารแคลเซียมไพโรฟอสเฟสไดไฮเดรต (CPPD) ถูกสะสมและเกิดเป็นผลึกเล็ก ๆ ในช่องข้อต่อ ผลึก CPPD จะทำให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่เข่า อาการของโรคเกาท์เทียมโดยทั่วไปคือ รู้สึกเจ็บบริเวณข้อต่อที่อักเสบ ข้อต่อบวม มีน้ำในข้อต่อ ข้อต่ออักเสบเรื้อรัง

ความผิดปกติอื่นที่เกิดขึ้นได้ เช่น

กลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้า

คืออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณเข่าด้านหน้ารอบกระดูกสะบ้า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับบุคคลวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะกลุ่มที่กระดูกสะบ้าเคลื่อน และนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังวิ่งหรือกระโดด ในบางครั้งจึงเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Runner’s Knee อาการทั่วไปคือ รู้สึกเจ็บปวดบริเวณด้านหน้าเข่า โดยอาการมักกำเริบเมื่อ ขึ้นหรือลงบันได นั่งคุกเข่าหรืองอเข่าเป็นระยะเวลานาน

เจ็บเข่ามีโอกาสเกิดได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยหรือพฤติกรรมบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดเข่าได้ ดังนี้

การเล่นกีฬาบางชนิด การเล่นกีฬาบางชนิดที่ต้องวิ่ง หรือกระโดดอยู่เสมอ เช่น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล อาจไปเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้เล่นเกิดอาการเจ็บเข่า

น้ำหนักมากเกินมาตรฐาน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือมีโรคอ้วน มักเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกอักเสบ เนื่องจากแรงกดบนเข่าจากน้ำหนักตัวของร่ายกาย จากกิจกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็น การเดิน การวิ่ง การขึ้นหรือลงบันได

กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่นหรือไม่แข็งแรง หากกล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่นหรือไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงที่มากระทำ จะส่งผลให้ข้อต่อต้องรับแรงโดยตรงและเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ

อาการบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้น ผู้ที่เคยบาดเจ็บบริเวณเข่ามาก่อน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บอีกครั้งมากกว่าคนที่ไม่เคยบาดเจ็บมาก่อน


arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

“ปวดข้อเข่า” สาเหตุและการรักษาที่คุณควรรู้

ปวดข้อเข่า คืออาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณข้อต่อซึ่งเชื่อมระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้รองรับน้ำหนักของร่างกาย อาการปวดข้อเข่าพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มักมีกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน และนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังขาและข้อเข่ามาก ปวดเข่าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด ดังนั้น หากเกิดอาการปวด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด แต่หากเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจดูแลรักษาด้วยตนเอง

ปวดข้อเข่า รักษา

ลักษณะอาการปวดการข้อเข่า

ความรุนแรงของอาการปวดข้อเข่า ขึ้นอยู่กับสาเหตุ บริเวณที่ปวด และสภาพทางกายภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ป่วยปวดเข่าจะมีอาการทั่วไปดังนี้

  • งอเข่าหรือยืดเข่าได้ลำบาก
  • ผิวหนังที่เข่าแดงหรือสัมผัสแล้วรู้สึกอุ่น
  • เกิดเสียงผิดปกติเมื่อขยับเข่า เช่น เสียงดังกึก เสียงลั่นในข้อ

บางครั้ง อาการปวดเข่าอาจเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรง ดังนี้

  • เกิดอาการปวด ร่วมกับอาการบวม แดง และเป็นไข้
  • ไม่สามารถยืนได้ ล้มเมื่อพยายามยืน หรือเดินลำบาก
  • รู้สึกชาบริเวณขาข้างที่ผิดปกติ
  • เข่ามีรูปร่างผิดปกติ

สาเหตุของอาการปวดข้อเข่า

โดยทั่วไปแล้วอาการปวดเข่าเกิดจากสาเหตุหลัก คือ การบาดเจ็บบริเวณเข่า การอักเสบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการปวดเข่าอาจเกิดจากความผิดปกติบริเวณใกล้เคียงแต่ส่งผลให้มีอาการปวดที่เข่าได้ เช่น เกิดจากกลุ่มอาการปวดเข่าบริเวณกระดูกสะบ้า

การรักษาอาการปวดข้อเข่า

การรักษาอาการปวดข้อเข่าทำได้หลายวิธี แตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การบำบัดรักษา การฉีดยา การผ่าตัด และการแพทย์ทางเลือก

  • การใช้ยาส่วนใหญ่แพทย์จะจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นก่อน และรักษาโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่ออาการปวดเข่า จี๊ดๆ หรือ ปวดเข่าตอนนอน เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเกาต์
  • กายภาพบำบัดรักษา แพทย์จะแนะนำวิธีการเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหน้าและต้นขาด้านหลัง ซึ่งในบางรายอาจให้ใช้เครื่องมือเสริมเพื่อป้องกันและรองรับแรงที่มากระทำกับข้อเข่า เช่น การใช้วัสดุรองรับอุ้งเท้าในผู้ป่วยข้อเสื่อม นอกจากนั้น ผู้ป่วยซึ่งปวดเข่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสียหายของเข่า ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายและเล่นกีฬาในท่าที่ถูกต้อง หรือหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • การฉีดยา ในบางครั้งแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยฉีดยาเข้าไปที่เข่าโดยตรง ซึ่งยาที่แพทย์ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษา
  • การผ่าตัด แม้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปวดเข่าเข้ารับการผ่าตัด แต่โดยส่วนใหญ่อาการปวดเข่าไม่ใช่การบาดเจ็บที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ผู้ป่วยจึงควรศึกษาถึงผลกระทบของการรักษาก่อนการตัดสินใจผ่าตัด
  • การแพทย์ทางเลือก ปัจจุบันมีงานวิจัยออกมาให้ข้อมูลถึงวิธีการรักษาอาการปวดเข่าวิธีใหม่ ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือการฝังเข็ม
  • กลูโคซามีนและคอนดรอยติน (Glucosamine and Chondroitin) ผลงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า กลูโคซามีนและคอนดรอยดิน ซึ่งเป็นสารที่มักถูกนำมาใช้เป็นอาหารเสริม หากรับประทานร่วมกัน จะมีประโยชน์ช่วยฟื้นฟูข้อเสื่อม โดยจะเห็นผลชัดเจนในผู้ป่วยที่มีอาการปวดปานกลางหรือปวดค่อนข้างรุนแรง

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

ปวดเข่าซ้าย ปวดเข่าขวา ระวังเป็นโรคปวดเข่าต่างๆ

โรคปวดเข่า

ปวดเข่าซ้าย ปวดเข่าขวา ระวังอย่าละเลยปัญหานี้

เข่าเป็นข้อต่อที่สำคัญของขา อาการปวดเข่าเป็นอาการที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้ลำบากมากขึ้น เช่น นั่ง เดิน หรือการปรับเปลี่ยนอริยบทต่างๆ ทำได้ลำบากมากขึ้น ซึ่งถ้าคุณปวดเข่ามีโอกาสที่คุณเสี่ยงโรคเหล่านี้สูงมาก

ปวดเข่าซ้าย ปวดเข่าขวา

โรคปวดเข่าต่างๆ ที่คุณอาจจะเป็นอยู่ดังนี้

1. โรคข้อเข่าเสื่อม

จัดว่าเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยเลยก็ว่าได้ ด้วยพฤติกรรมของคนไทยที่ชอบนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่ากันบ่อยๆ ร่วมกับอายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงจนทำให้กล้ามเนื้อมีแรงน้อยลงในการพยุงข้อเข่าจนหมอนรองกระดูกข้อเข่าค่อยๆเสื่อม จนกลายเป็นโรคข้อเสื่อมในที่สุด ซึ่งกว่าจะเป็นเข่าเสื่อมได้นั้นก็กินเวลากันเป็นปีๆ

จุดสังเกตุโรคเข่าเสื่อม

  • มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่ก็คืออายุ 45 ปีขึ้นไป
  • ตำแหน่งที่ปวดนั้น มักปวดที่ข้อเข่าด้านในมากกว่าส่วนอื่นทั้งหมด
  • รู้สึกข้อเข่าฝืดในช่วงเช้าหลังตื่นนอน แต่เมื่อเดินไปสักพักข้อเข่าก็จะเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ฝืดน้อยลง
  • ปวดมากขึ้นเมื่อพยายามงอเข่า พับเข่า โดยจะมีความรู้สึกตึงๆขัดๆเสียวๆอยู่ในข้อเข่าด้านหลังเวลางอเข่า (แต่บางรายก็ปวดรอบๆเข่าทั่วไปหมดก็มี)
  • ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิได้ หากนั่งขัดสมาธิก็ต้องนั่งเหยียดขาขางที่ปวดออก
  • ในระยะเริ่มแรกที่เป็นอาจมีภาวะข้อเข่าบวม จากนํ้าเลี้ยงข้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อพยายามซ่อมแซมเนื้อเยื่อในเข่าที่เสียหาย
  • หากเป็นมานานจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเข่า นั่นคือมีภาวะเข่าโก่ง
  • มีเสียงดังกร๊อบแกร็บในข้อเข่า จากภาวะที่เข่าหลวมทำให้ผิวข้อกระดูกเสียดสีกันจนเกิดเสียงขึ้น

2. โรคอาการปวดใต้ข้อพับเข่าจากกล้ามเนื้ออักเสบ

สำหรับโรคปวดใต้ข้อพับเข่าจากกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นอาการปวดเข่าด้านหลังที่ไม่ค่อยพบในผู้สูงอายุ  แต่จัดว่าเป็นโรคที่พบได้เฉพาะในกลุ่มนักกีฬาวิ่งเร็ว หรือกีฬาที่ต้องมีการกระโดดอยู่เป็นประจำ ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง หรือกล้ามเนื้อ hamstring นั้นถูกฉีกกระชาก ถูกใช้งานหนักบ่อยๆเข้า จนเส้นใยกล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาดและเกิดการอักเสบขึ้นนั่นเอง

โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นที่บริเวณใต้ข้อพับเข่า และจะปวดมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยพยายามวิ่งเร็ว กระโดด ทำกิจกรรมที่ต้องมีการงอเข่าอยู่บ่อยๆ หรือยืดกล้ามเนื้อ hamstring โดยการนั่งเหยียดขาก้มตัวแตะปลายเท้า ซึ่งการยืดกล้ามเนื้อก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดมากขึ้นได้

3. โรคอาการปวดข้างเข่าด้านนอกจากพังผืดอักเสบ

โรค IT band syndrome ก็จัดว่าเป็นโรคเฉพาะกลุ่มอีกเช่นกัน มักพบในกลุ่มนักวิ่งมาราธอน หรือนักปั่นจักรยานทางไกล โดยจะมีอาการปวดที่ข้างเข่าทางด้านนอก ซึ่งเกิดจากตัวพังผืดของเข่า ไปเสียดสีกับปุ่มกระดูกที่อยู่ข้างเข่าด้านนอก ในขณะที่เราวิ่งหรือปั่นจักรยาน เมื่อเกิดการเสียดสีบ่อยๆเข้า ก็ทำให้ตัวพังผืดเกิดการฉีกขาดขึ้นบางส่วน และเกิดการอักเสบขึ้นในที่สุดจนกลายเป็นที่มาของโรคอาการปวดข้างเข่าด้านนอก จากพังผืดอักเสบ

โดยข้อสังเกตุของโรคนี้ของคนที่เป็นโรคนี้ก็คือ มักจะปวดเมื่อวิ่งไปถึงระยะทางเดิมๆก็จะเริ่มมีอาการปวดเกิดขึ้น และหากยังคงฝืนวิ่งต่อไปก็จะปวดมากขึ้นจนวิ่งต่อไม่ไหว เช่น เมื่อผู้ป่วยวิ่งในระยะแรกๆจะไม่มีอาการปวด แต่พอวิ่งไปได้ระยะทางที่ 2,000 เมตร ก็จะเริ่มมีอาการปวดที่ข้างเข่าด้านนอกทันที พอพักได้ 2-3 วัน กลับไปวิ่งใหม่ และเมื่อวิ่งไปได้ระยะทาง 2,000 เมตรอาการปวดก็กำเริ่มขึนอีก เป็นแบบนี้ทุกครั้งที่วิ่งออกกำลังกาย อาการปวดส่วนใหญ่ก็จะอยู่แค่ข้างเข่าด้านนอก แต่บางรายก็จะมีอาการปวดที่ข้างต้นขาด้านนอกทั้งแถบเลยก็ได้ในกรณีที่ปวดเรื้อรังมานาน

4. โรคเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด

โรคเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด จัดว่าเป็นโรคยอดฮิตในหมู่นักฟุตบอล หรือในกลุ่มคนที่ชอบเล่นกีฬาที่ต้องมีการวิ่งซิกแซ็กหลบหลีกคู่ต่อสู้อยู่บ่อยๆ สาเหตุหลักๆก็มาจากการวิ่งลงนํ้าหนักและเกิดเข่าบิดในขณะที่เข่าเหยียดตรงอยู่ ทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าถูกกระชากจนฉีกขาด หรือไม่ก็เกิดจากเรายืนเหยียดเข่าอยู่เฉยๆ แต่จู่ๆ มีคนมาสไลด์ชนปลายเท้าเราทำให้เข่าบิดจนเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดได้เช่นกัน สรุปคือเอ็นไขว้หน้าเข่าจะฉีกขาดได้ก็ต่อเมื่อมีแรงมากระทำต่อข้อเข่าของเรา และมักพบในกลุ่มเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบเล่นกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งอยู่เป็นประจำ

อาการหลักของคนเป็นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดก็คือ เมื่อเอ็นขาดใหม่ๆ ข้อเข่าจะบวมภายในไม่กี่ชั่วโมง มีบวม แดง และร้อนอย่างชัดเจนที่ข้อเข่า ไม่สามารถเดินลงนํ้าหนักของขาข้างที่มีปัญหาได้ รู้สึกข้อเข่าไม่ค่อยมีความมั่นคง (เข่าหลวม) ขณะเดินจะรู้สึกว่าหน้าแข้งมันจะเคลื่อนไปด้านหน้าตลอด เป็นต้น

5. โรคข้อเข่านักกระโดด

ในบรรดาโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมดที่กล่าวมา โรคข้อเข่านักกระโดดจัดว่าเป็นโรคที่พบได้น้อยที่สุดแล้ว เพราะโรคนี้มักพบในกลุ่มนักกีฬาหรือคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการกระโดดอยู่เป็นประจำ ซึ่งเกิดจากเส้นเอ็นใต้ลูกสะบ้าถูกฉีกกระชากจากกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า หดตัวอย่างเร็วและแรงในขณะที่เรากำลังกระโดดขึ้นนั่นเอง

อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ก็คือ จะมีอาการปวดที่ข้อเข่าทางด้านหน้า โดยเฉพาะตำแหน่งใต้ลูกสะบ้า เมื่อกดลงไปตรงเอ็นใต้ลูกสะบ้าจะยิ่งทำให้เจ็บปวดมากยิ่งขึ้น บางรายก็มีอาการปวดรอบๆลูกสะบ้าเลยก็มี โดยอาการปวดนั้นจะปวดที่ผิวๆ หาจุดกดเจ็บเจอได้ง่าย แต่ถ้าเป็นข้อเข่าเสื่อมก็จะมีอาการปวดด้านหน้าเข่าได้เช่นกัน จะต่างกันตรงที่ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมนั้นจะรู้สึกปวดลึกๆ อยู่ข้างในเข่า หาจุดกดเจ็บไม่เจอ

6. โรคเข่าแม่บ้าน

หากจะบอกว่าโรคข้อเข่านักกระโดดพบได้น้อยแล้ว โรคเข่าแม่บ้านจัดว่าพบได้น้อยยิ่งกว่า เพราะคนจะเป็นโรคนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ คือ ชอบนั่งคุกเข่าในลักษณะที่นํ้าหนักตัวกดลงไปที่ลูกสะบ้าโดยตรงเหมือนท่านั่งคุกเข่าถูพื้น (เพราะเหตุนี้เค้าถึงเรียกกันว่า โรคเข่าแม่บ้าน) กับอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากล้มข้อเข่ากระแทกพื้นโดยตรง ทำให้ถุงนํ้าที่อยู่บนลูกสะบ้าได้รับการกระทบกระเทือนและเกิดอับเสบขึ้นจนปวดบวมอย่างชัดเจน


arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

การวิ่งทำให้เข่าเสื่อม… จริงหรือไม่?

การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่นิยมมากในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีผู้คนไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะหรือตามสถานออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อถามถึงประโยชน์ของการวิ่ง นอกจากจะได้ความแข็งแรงของระบบหัวใจและปอดแล้ว ยังได้เผาผลาญไขมันส่วนเกิน ลดความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งช่วยให้ระบบประสาทควบคุมกล้ามเนื้อทำงานได้ดี ไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อกล้ามเนื้อ ข้อต่อไม่อ่อนล้าและยังเคลื่อนไหวได้ดีและไม่เสื่อมง่าย อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายผิดวิธีอาจส่งผลเสียแก่ร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้โดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของการวิ่งว่าส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ

วิ่งทำให้เข่าเสื่อม

วิ่งกับข้อเข่าเสื่อม

หลายๆ คน มักโยนความผิดให้ว่า วิ่ง เป็นสาเหตุประการหนึ่งของ “โรคข้อเข่าเสื่อม” ทั้งที่ความเป็นจริง ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากความร่วงโรยตามวันเวลา กระดูกอ่อนบริเวณข้อย่อมเสื่อมสภาพจนไม่สามารถเป็นเบาะรองรับน้ำหนัก และสูญเสียคุณสมบัติการเป็นน้ำหล่อเลี้ยงเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวจนเกิดการเสียดสีและสึกหรอของกระดูกอ่อน

นายแพทย์ธนพจน์ จันทร์นุ่ม ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงความเชื่อที่ว่า “ยิ่งวิ่งยิ่งเข่าเสื่อม” ว่า

“ความจริงแล้ววิธีวิ่งที่ถูกวิธีอย่างต่อเนื่องช่วยป้องกันข้อต่อไม่ให้เสื่อมเร็ว การหยุดวิ่งหรือขาดการออกกําลังกายที่เหมาะสมต่างหากที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ข้อเสื่อม เพราะการวิ่งแต่ละก้าวจนทําให้เกิดแรงกดที่กระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายฟองน้ำคอยรับแรงกระแทกในข้อ แรงกดและปล่อยอย่างเป็นจังหวะจากการวิ่งจะเพิ่มการหมุนเวียนน้ำหล่อเลี้ยงภายในข้อ ซึ่งเป็นสารอาหารให้เซลล์กระดูกอ่อนที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยง แต่จะได้สารอาหารและออกซิเจนจากน้ำหล่อเลี้ยงข้อเท่านั้น การเคลื่อนไหวข้อที่มีแรงกดที่กระดูกอ่อนอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอจึงเป็นการให้สารอาหารกระดูกอ่อน กระตุ้นการสร้างและซ่อมส่วนที่สึกหรอ ช่วยลดความเสี่ยงข้อเสื่อม”

งานวิจัยแรกคือของ Eliza Chakravarty จากมหาวิทยาลัย Stanford ที่ศึกษากลุ่มนักวิ่ง 45 คน เทียบกับกลุ่มที่ไม่วิ่ง 53 คน เป็นเวลา 18 ปี พบว่าอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อมในกลุ่มนักวิ่งน้อยนั้นกว่ากลุ่มที่ไม่วิ่งถึง 20% (เทียบกับ 32%) อ่านไม่ผิดหรอกครับ! กลุ่มนักวิ่งมีอาการข้อเข่าเสื่อมน้อยกว่าด้วยซ้ำ

อีกงานวิจัยเป็นของ David Felson ซึ่งศึกษาข้อมูลในผู้เข้าร่วมวิจัย 1,279 คน พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่าง การวิ่งกับอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน

นอกจากนี้ในปี 2013 ที่ผ่านมา มีงานวิจัยอีกงานที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาโดย Paul Williams ได้ตีพิมพ์งานวิจัย ที่ศึกษากลุ่ม นักวิ่ง 74,752 คน เทียบกับคนที่ออกกำลังกายด้วยการเดิน 14,625 คน พบว่าในคน ที่วิ่งมากกว่าประมาณ 2 กิโลเมตร ต่อวัน จะมีอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อม รวมถึงโอกาสที่จะต้องเปลี่ยนสะโพก “ลดลง” อีกทั้งจำนวนผู้ที่มีปัญหาจากกลุ่มนักวิ่งก็ยังน้อยกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกาย ด้วยการเดินอีกด้วยครับ โดยผู้วิจัยพบว่าสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดข้อเข่าเสื่อมก็คือ การที่มีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งในกลุ่มนักวิ่งส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนน้ำหนักตัวที่น้อยกว่า จึงไม่ค่อยพบปัญหานี้ ส่วนนักวิ่งที่มีการออกกำลังกายอย่างอื่นร่วมด้วย พบว่ามีอัตราการเกิดข้อเข่าเสื่อมสูงขึ้นครับ

ปัจจุบันนี้เราน่าจะสามารถสรุปเรื่องนี้ได้แล้วครับว่า “การวิ่งไม่ได้ทำให้ข้อเข่าเสื่อม” แถมยังช่วยป้องกันได้ด้วยซ้ำ ในเมื่อมีงานวิจัยใหญ่ขนาดนี้มารองรับแล้ว ต่อไปเวลามีคนบอกว่า “วิ่งมากๆ ระวังข้อเข่าเสื่อมนะ” นักวิ่งทุกท่านก็ไม่ต้องกังวลแล้วล่ะครับ

ควรถนอมเข่าก่อนวิ่ง ด้วยการวอร์มอัพ

1. ยืดข้อให้สุดในทิศทางต่างๆ แล้วค้างไว้เป็นเวลา 10-15 วินาที ทําซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง โดยเน้นกล้ามเนื้อหลักบริเวณน่อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า และกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง

2. การออกกําลังกายด้วยวิธีวิ่งต้องอาศัยการอบอุ่นร่างกายที่มากเพียงพอ ฉะนั้นอาจเริ่มจากการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ เป็นเวลา 5-10 นาที ก่อนจะวิ่งเต็มที่ เพื่อให้กล้ามเนื้อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจได้ปรับตัวก่อนออกกําลังกาย

3. การเลือกรองเท้าวิ่งก็เป็นสิ่งสําคัญ ควรเป็นแบบที่มีพื้นกันแรงกระแทก กระชับพอดีกับเท้าและออกแบบมาสําหรับการวิ่งโดยเฉพาะ ทั้งนี้ลักษณะของเท้ายังเป็นอีกปัจจัยที่ต้องคํานึงถึงในการเลือกรองเท้าที่เหมาะกับการออกกําลังกาย

4. ไม่ควรวิ่งแบบก้าวเท้ายาวหรือยกเข่าสูงเกินไป เพราะข้อเข่าต้องงอมากเกินความจําเป็น อาจทําให้ปวดเข่าง่ายขึ้น และควรลงน้ำหนักที่ส้นเท้า มิเช่นนั้นจะทําให้ปวดกล้ามเนื้อน่องและเข่าด้านหน้าได้ อย่างไรก็ดีการวิ่งลงน้ำหนักที่ปลายเท้าทําได้ในกรณีที่ต้องการเร่งความเร็ว หรือสําหรับนักกีฬาที่มีความฟิตเพียงพอ

5. ไม่ควรวิ่งขึ้น-ลงเนิน แต่หากจําเป็นต้องวิ่งลงเนิน ควรเกร็งลําตัวให้ตั้งตรง เพราะแรงโน้มถ่วงอาจทําให้เสียหลัก นอกจากนี้ควรก้าวเท้าให้ยาวและเร็วขึ้นกว่าตอนวิ่งบนพื้นที่เรียบเสมอกัน

6. หากเป็นผู้ป่วย ที่มีภาวะข้อเสื่อมอยู่แล้ว ควรเปลี่ยนจากการวิ่งเป็นเดินเร็วแทน และต้องระวังเรื่องระยะทางที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ไม่ควรเพิ่มระยะทางหรือความเร็วอย่างกะทันหัน นอกจากนี้ หลังจากวิ่งสักพักควรสลับเป็นเดิน เพื่อให้ร่างกายได้กําจัดกรดแล็กติกที่สะสมขณะวิ่งออกไปจากกล้ามเนื้อบ้าง เพื่อช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ

7. หมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้วยการเหยียดเข่าตรงและเกร็ง ค้างไว้ครั้งละ 5 วินาที ประมาณวันละ 10-20 ครั้ง หรืออาจเข้ายิมเล่นเวต เพิ่มกําลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและด้านหลังสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสะโพกกว้างซึ่งมีแนวโน้มเกิดปัญหาปวดเข่าได้ง่าย การออกกําลังกายด้วยวิธีดังกล่าวจะสร้างกล้ามเนื้อให้ช่วยรั้งกระดูกสะบ้าเข้าด้านใน เพื่อลดปัญหาปวดเข่าในระยะยาว

อย่ากลัวที่จะวิ่ง แค่รู้จักวิ่งให้ถูกวิธี รับรองว่า เข่าไม่เสื่อม แถมแข็งแรงขึ้นอีกมาก


arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี

Posted on Leave a comment

9 สมุนไพรแก้อาการปวดเข่า ที่หาได้ทั่วไปและทำได้ง่ายมาก

สมุนไพรนั้นเป็นผลผลิตที่ได้จากธรรมชาติ ได้แก่ พืช สัตว์ และ แร่ธาตุ ที่สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหรือบำรุงร่างกาย เช่น ใช้กิน ใช้ทา ใช้รม เป็นต้น ซึ่งอาจจะใช้ทั้งหมด เช่น ใช้ทั้งต้น หรือแค่เฉพาะบางส่วนของผลผลิตนั้นๆเพื่อปรุงเป็นยารักษาโรค เช่น เฉพาะส่วนราก โดยอาจจะต้องผ่านกระบวนการบางอย่างก่อนนำมาใช้ เช่น บด ต้ม คั้น ตากแห้ง เป็นต้น ทางเรา arukou ได้แนะนำสมุนไพรที่แก้อาการปวดเข่าโดยเฉพาะ

สมุนไพรแก้ปวดเข่า

9 สมุนไพรแก้อาการปวดเข่า ที่หาได้ทั่วไปและทำได้ง่ายมาก

1.ขมิ้นชัน

ขมิ้นชันถือว่าเป็นสมุนไพรชั้นเลิศ ที่สามารถบรรเทาอาการปวดเข่าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสรรพคุณของตัวมันเอง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่สูง

สารสกัดจากขมิ้นชัน ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียน จากองค์การอาหารและยา โดยถือว่าเป็นสมุนไพรตัวแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบัน สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันตัวที่มีสรรพคุณเช่นเดียวกันได้ ซึ่งนั่นก็คือ การบรรเทาอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม ซึ่งมีการวิจัยและค้นพบว่า สารสกัดจากขมิ้นชัน ออกฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวด และยังมีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยกว่าการรับประทานยาแผนปัจจุบันมากอีกด้วย

2.ขิง

กรณีที่มีอาการปวดเข่า จากโรคข้อเข่าอักเสบ และไม่ได้เกิดจากเข่าเสื่อมหรือไขข้อไม่ดี สมุนไพรพื้นบ้านของไทยที่มีนามว่า “ขิง” นี้ จะช่วยคุณได้แบบไม่น่าเชื่อเลยล่ะ

  • ใช้ “ขิงแก่” น้ำหนัก 5 ขีด นำมาผสมน้ำตาลทรายแดง 1 ขีด
  • ตำให้เข้ากันพอหยาบ
  • นำเนื้อขิงแก่ที่ตำไว้ ห่อผ้าขาวบาง แล้วนำไปพอกบริเวณที่ปวด ใช้ผ้ามัดซ้ำอีกที หรือจะสวมสายรัดเข่าทับอีกชั้นก็ได้
  • สามารถพอกทิ้งไว้ได้นานทั้งคืน เปลี่ยนวันละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ

สำหรับอาการปวดเข่าที่ไม่ได้หนักหนามากจนเกินไป การรับประทานน้ำขิง จะช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการปวด โดยทางที่ดีควรซื้อน้ำขิงที่ใส่น้ำตาลน้อย หรือต้มน้ำขิงดื่มเอง นอกจากจะแก้อาการปวดเข่าได้ดีแล้ว ยังช่วยในเรื่องของกรดไหลย้อน และทำให้ชุ่มคออีกด้วย

3. เมล็ดลำไย

ในต่างประเทศ มีงานวิจัยที่ค้นพบว่า สารประกอบโพลีฟีนอล ที่มีอยู่ในผลไม้จำพวกองุ่นและแอปเปิ้ล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่สลายกระดูกอ่อน บรรเทาอาการปวดเข่าได้ดี แต่ก็ต้องบอกเลยว่า โชคดีที่เกิดมาเป็นคนไทย เพราะว่าผลไม้แสนอร่อยอย่าง “ลำไย” ที่เราทานแต่เนื้อ แล้วทิ้งเมล็ดกันมาโดยตลอดเนี่ย มีสารประกอบที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าที่สูงกว่าองุ่นหรือแอปเปิ้ลของต่างชาติเสียอีก

โดยมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำสารสกัดจากเมล็ดลำไยมาวิจัย และพบว่า คลินิก สารโพลีฟีนอลทั้ง 3 ตัวที่อยู่ในเมล็ดลำไย ช่วยป้องกันการเสื่อมสลาย และช่วยยืดอายุกระดูกอ่อนได้เป็นอย่างดี

ได้มีการทดลองกับผู้ป่วยโรคไขข้ออักเสบและรูมาตอยด์ เพราะว่าโครงสร้างกระดูกอ่อนและกล้ามเนื้อของผู้ป่วย มีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถลดอาการปวดข้อเข่าไปได้มาก ที่น่าเหลือเชื่อมากก็คือครีมทาแก้ปวดเข่าที่มีสารสกัดเมล็ดลำไยนี้ มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดได้ดีเทียบเท่ากับยาไดอะเซียรีน ซึ่งเป็นยาแก้โรคข้อเข่าเสื่อมโดยเฉพาะ วิธีการทำก็ง่ายๆ ดังนี้

  • นำเมล็ดลำไยสดประมาณ 20-30 เมล็ด มาโขลกให้แตก ไม่ต้องถึงกับละเอียด
  • จากนั้นนำไปแช่ในเหล้าขาว ทิ้งเอาไว้เป็นเวลา 7 วัน
  • ใช้เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำนำมาทาบริเวณที่ปวดเข่า วันละ 1-2 ครั้ง

4. เพชรสังฆาต

เพชรสังฆาต เป็นสมุนไพรโบราณ มักรู้จักกันในนาม ยาบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร แต่แท้จริงแล้วตามตำราของแพทย์แผนโบราณ เพชรสังฆาตยังมีสรรพคุณ “แก้กระดูกแตก หัก ขับลมในลำไส้” อีกด้วย หมอพื้นบ้าน มักจะใช้เถาของเพชรสังฆาต นำมาตำให้ละเอียด แล้วพอกบริเวณกระดูกที่หักหรือปวด จะช่วยลดการปวดบวม อักเสบได้

มีการนำเพชรสังฆาตมาวิจัย และพบว่าในเพชรสังฆาต มีวิตามินซีสูง ซึ่งยืนยันถึงสรรพคุณในการรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน มีแคโรทีน ที่เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังมีสารอนาบอลิคสเตียรอยด์ ที่ช่วยในการสมานกระดูก

มีการให้กลุ่มสตรีวัยทองที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคกระดูกพรุน รับประทานเพชรสังฆาตแคปซูล ครั้งละ 2 แคปซูลวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร พบว่าเพชรสังฆาตช่วยในการเพิ่มมวลกระดูกและรักษาอาการกระดูกแตก ช่วยลดอาการปวดเข่า

ข้อควรระวัง

สำหรับการรับประทานแบบสด ควรซอยเพชรสังฆาตให้ละเอียด ห้ามเคี้ยว อาจจะใช้กลืนพร้อมน้ำ หรือยัดเข้าไปในกล้วยน้ำว้าสุกก็ได้ และไม่ควรรับประทานต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไตห้ามรับประทานเด็ดขาด

5.เถาวัลย์เปรียง

เถาวัลย์เปรียง เป็นสมุนไพรแผนไทย ที่ปรากฏอยู่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในหลายคัมภีร์ ใช้เป็นตำรับยา แก้เหน็บชา แก้กษัย แก้เมื่อยปวด ขับปัสสาวะ

มีงานวิชาการพบว่า เถาวัลย์เปรียง มีสรรพคุณในการช่วยอาการแก้ปวดเข่า จากเข่าเสื่อม โดยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนาพร็อกเซ็น ยาไดโคลฟีแนค ที่เป็นยาต้านการอักเสบและบรรเทาอาการปวดเข่า ปวดหลังส่วนล่าง พบว่าเถาวัลย์เปรียงมีสรรพคุณในการลดการอักเสบและแก้ปวดได้ใกล้เคียงกัน

มีงานวิจัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ศึกษาถึงสรรพคุณของเถาวัลย์เปรียง พบว่า การรับประทานเถาวัลย์เปรียงขนาด 400 mg วันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีอาการปวดลดลง เทียบเท่ากับยานาโปรเซน และยังมีความปลอดภัย ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารไม่ต่างกันด้วย แต่ราคาถูกกว่าถึง 4-6 เท่าตัว

ข้อควรระวัง

ข้อมูลของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า เนื่องจากสารสกัดของเถาวัลย์เปรียง มีสรรพคุณในการขยายหลอดเลือด และช่วยลดความดันโลหิต ดังนั้นจึงแนะนำว่า ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน รวมถึงผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่รับประทานยาแผนปัจจุบันเพื่อควบคุมความดันอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเช่นเดียวกัน ส่วนในเรื่องอันตรายต่อไต ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าเถาวัลย์เปรียง มีผลเกี่ยวข้องกับระบบไตแต่อย่างใด

6. ยอ

สมุนไพรใกล้ตัว ถูกนำมาใช้ทำอาหาร หรือทำเป็นยาพอกแก้ปวด แก้เคล็ดขัดยอก ผลยอสุกนำมาใช้รับประทานได้ ลูกยอบดใช้ทาผิวหนังฆ่าเชื้อโรค ในปัจจุบันมีการนำยอมาใช้รักษาโรคต่างๆ เช่น โรคเก๊าต์ โรคความดันโลหิตสูง อาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ โรคปวดในข้อ เป็นต้น

7. งา

พืชน้ำมันบำรุงชั้นยอด งาอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส รับประทานคู่กับถั่วธัญพืชต่างๆ จะยิ่งทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อความแข็งแรงของกระดูก สรรพคุณของงา ในการเป็นยาบำรุงกระดูก

8.หญ้าขัดมอน

สมุนไพรตระกูลขัด มีสรรพคุณในการแก้ขัดต่างๆ เช่น อาการปวด ขัดตามข้อ ปัสสาวะขัด ใช้ในการรักษาอาการปวดข้อ ปวดเมื่อย บำรุงเอ็น รวมถึงกล้ามเนื้อและกระดูก

9. เอ็นอ่อน

เป็นสมุนไพรหนึ่งในยา สามดูกสี่เอ็น เพื่อรักษากระดูกและเอ็น สรรพคุณที่ใช้ในการรักษากระดูกและเอ็น แก้เส้นตึง ช่วยให้คลายเส้น และยืดเส้นเอ็น


ก็จบไปแล้วน่ะครับ สำหรับบทความเกี่ยวกับสมุนไพร ทั้งนี้ทั้งนั้นทาง arukou เราก็แนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อที่จะได้ผลลัพท์ที่ดีที่สุด และใช้ผลิตภัณฑ์ถนอมเข่าของเรา คุณสามารถปรึกษาเราได้ฟรี arukouthailand.com

Posted on Leave a comment

วิธีถนอมข้อเข่า เพื่อที่เราจะให้ได้ใช้ไปนานๆ

การถนอมข้อเข่า

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หลายๆ อย่างในร่างกายของเราก็จะค่อยๆ เสื่อมลง ซึ่งอาการ เข่าเสื่อม ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่เราพบได้บ่อยเช่นกัน ส่วนมากผู้ที่เป็นจะปวดแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ แม้จะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่มันก็ทำให้เราทรมานได้ไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้ทาง Arukou เลยจะมาขอแชร์ วิธีป้องกันเข่าเสื่อม ที่คุณก็ทำได้ง่ายๆ

การรักษาข้อเข่า

วิธีป้องกันไม่ให้เข่าเสื่อม วิธีถนอมข้อเข่า เพื่อที่จะให้ได้ใช้ไปนานๆ

1. อย่านั่งมากและกินมากเกินไป

หากลดน้ำหนักตัวลงได้ประมาณ 5 กิโลกรัม สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 50 มีหลักฐานยืนยันในผู้ที่มีอาการปวดเข่า พบว่าอาการปวดจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าน้ำหนักตัวลดลง ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องข้อเข่าแล้วยังช่วยเรื่องสุขภาพด้านอื่นๆของร่างกายเราอีกด้วย ดีกับดี

2. ปรึกษาแพทย์ หากโครงสร้างเข่าผิดปกติ

ลักษณะของโครงสร้างเข่าปกติมีหลายชนิด (เข่าโก่ง เข่าชิด หรือเข่าแอ่น) ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไขตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น การเสริมรองเท้า การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุง หรือใส่ซัพพอร์ตเข่า หรือสามารถปรึกษาทางเราได้ฟรี

3. หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาปะทะ

กีฬาปะทะบางประเภท จะนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บของเข่า ควรเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่เอามัน ไม่ควรเสี่ยงปะทะ เอาชนะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เช่น เล่นบอลหนัก หรือควรวอร์มอัพก่อนที่จะออกกำลังกายเสมอ

4.ไม่ควรอยู่ในท่าคุกเข่า นั่งยอง ยืน เป็นเวลานาน

ผู้ที่ต้องคุกเข่าทำงานอาจต้องหาวัสดุที่นิ่มมารองบริเวณเข่า เพื่อกระจายแรงกด ถ้าจำเป็นอยู่ในท่าเหล่านี้นานๆ ให้พยายามเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อให้แรงกดที่ข้อสลับเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ในกิจกรรมทางศาสนาที่ต้องนั่งพับเพียบกับพื้นเป็นเวลานาน ให้สลับนั่งพับเพียบซ้าย-ขวาบ่อยๆ ไม่ควรรอจนเข่าปวดแล้วจึงขยับ ซึ่งถ้าทำบ่อยๆ บอกเลยไม่ดีเลยนะ

5. เลี่ยงกิจกรรมที่มีแรงกระแทกหรือแรงบิดต่อข้อเข่าสูง

เช่น การกระโดดซ้ำๆ การยกของหนักเกินกำลัง การหมุนตัวด้วยการใช้หัวเข่า หรือทำกิจกรรมพวกนี้บ่อยๆ ทำให้เข่าเราเสื่อมก่อนเวลาปกติได

6. ลดอาการปวดทันที

เมื่อมีอาการปวดเข่า อย่าปล่อยให้มีอาการปวดแบบนั้นอยู่นานๆ ควรรีบรักษาอาการปวดด้วยการหายาแก้ปวดมาทาน สามารถเลือกกลุ่มยาตระกูล NSAIDs อย่าง ไอบูโพรเฟน หรือนาโปรเซนได้ ยาสองชนิดนี้สามารถหาซื้อทานได้ตามร้านขายยาทั่วไป ควรทานตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด แต่หากมีประวัติแพ้ยาตระกูล NSAIDs หรือไม่แน่ใจในอาการปวดข้อของตัวเอง ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนทานยา เพราะยาตระกูล NSAIDs อาจมีผลข้างเคียงในบางรายได้ เช่น ปวดท้อง มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือ ตับ/ไตได้รับความเสียหาย เป็นต้น

หากไม่เคยมีประวัติแพ้ยาตระกูล NSAIDs สามารถทานยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรได้ และควรใช้บรรเทาอาการปวดในระยะสั้นๆ เท่านั้น ไม่ควรทานยาแก้ปวดติดต่อกันเกิน 5 วัน หากอาการปวดไม่ดีขึ้นภายใน 5 วัน ควรรีบปรึกษาแพทย์

7. ออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าขาให้แข็งแรง

วิธีการที่ทำกันทั่วไป คือ ถุงทรายน้ำหนัก 1-2 กิโลกรัม มาผูกกับข้อเท้า นั่งห้อยขาแล้วยกขึ้น-ลง ช้าๆ ถ้าได้ 10 ครั้ง แล้วเมื่อยพอดี ให้ทำซ้ำอีก 2 เซต หรือจะออกกำลังกายด้วยการยืนย่อเข่าทั้ง 2 ข้างประมาณ 20 องศา ค้างไว้ 1 วินาที แล้วเหยียดเข่า ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง ถ้ารู้สึกว่าง่ายไป อาจยืนขาเดียวพิงฝา ปรับจนทำได้ประมาณ 10 ครั้ง แล้วเมื่อยพอดี ทำซ้ำอีก 2 เซต

8. รักษาทันทีที่มีอาการบาดเจ็บที่เข่า

ถ้ามีอาการบาดเจ็บของเข่า มีอาการบวม ต้องทำการรักษา และงดการทำกิจกรรมที่ทำให้มีอาการปวดมากขึ้น เมื่อหายยังไม่สนิทต้องระวังไม่ให้เป็นซ้ำ และอย่าปล่อยให้มีอาการเรื้อรัง

9. หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูง

เนื่องจากจะทำให้เข่าแอ่น มีโอกาสที่เข่าจะเสื่อมได้ง่าย หากจะเล่นกีฬา ก็ควรสวมใส่รองเท้าให้เหมาะกับกีฬาแต่ละประเภท เช่น รองเท้าวิ่งก็ควรมีส้นรองเท้าที่นิ่มรับแรงกระแทกได้ดี รองเท้าสำหรับใส่เล่นแบดมินตัน หรือเทนนิสควรมีพื้นบางเพื่อไม่ให้พลิกได้ง่าย เป็นต้น

10. เสริมรองเท้าในระยะที่ขาด

ลองวัดความยาวขาดู นอนหงาย ปล่อยขาตามสบายแต่ไม่กาง ให้เพื่อนคลำปุ่มกระดูกบริเวณที่เท้าสะเอว และกลางตาตุ่มของเท้าด้านใน วัดระยะห่างจากทั้ง 2 จุดในขาข้างหนึ่ง ถ้าขาสองข้างยาวไม่เท่ากันเกิน 2 เซนติเมตร ต้องเสริมรองเท้าในระยะที่ขาด


arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี