อาการปวดข้อเข่าจากการขึ้นลงบันได เสียงก๊อกแก๊กดังจากหัวเข่ามีได้ 2 ลักษณะ คือ แบบที่ไม่มีอาการปวดร่วมด้วย และแบบที่มีเสียงร่วมไปกับอาการปวด หรือรู้สึกข้อเข่าไม่มั่นคง บางครั้งอาจทำให้เสียวเข่าได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดเสียงดังที่หัวเข่าแบบที่ไม่มีอาการปวดเข่าร่วมด้วยนั้น พบเฉพาะเวลางอเข่ามากๆ เป็นเวลานานๆ เช่นการนั่งยองๆ หรือลุกจากเก้าอี้เตี้ย เสียงดังในลักษณะนี้เกิดจากการขบกันของผิวกระดูกอ่อนหรือเนื้อเยื่อ เส้นเอ็นในข้อเข่า โดยทั่วไปแล้วมักจะไม่เป็นปัญหาใดๆ แต่ในกรณีที่มีเสียงที่ดังก๊อกแก๊ก หรือรู้สึกเข่าลั่น ร่วมกับอาการปวดเข่า อาจเกิดจากความผิดปกติบริเวณหัวเข่า เช่น ข้อเข่าเสื่อมจากกระดูกอ่อนผิวข้อมีการสึกกร่อนจนพื้นผิวข้อขรุขระ หรือมีนำหล่อเลี้ยงภายในข้อเข่าน้อย ส่งผลให้เกิดการแทกระหว่างผิว ย่อมทำให้เกิดเสียงได้มากขึ้น หรือมีหมอนรองกระดูกฉีกขาดเนื่องจากอุบัติเหตุต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดเสียงดังเมื่อมีการขยับข้อเข่าได้เช่นกัน
เช็คอาการปวดเข่า เข่ามีเสียง สัญญาณ “ข้อเข่าเสื่อม”
1. รู้สึกปวดเข่า โดยเฉพาะเวลางอเข่าหรือเมื่ออากาศเย็นๆ
2. รู้สึกปวดเข่า เวลาขึ้นลงบันได วิ่ง หรือ กระโดด
3. ได้ยินเสียงก๊อกแก๊กเวลางอเหยียดเข่า
4. รู้สึกปวดเข่ามากขึ้นเมื่อนั่งพับเพียบ นั่งยองๆ หรือนั่งในท่าที่เข่างอมากๆ
5. รู้สึกปวดเข่า และปวดเสียวมากขึ้นเมื่อต้องลงน้ำหนัก หรือยืนด้วยขาข้างเดียว
6. ไม่ค่อยมีแรง ทรงตัวไม่ค่อยได้ ขาโก่งมากขึ้น
ปวดเข่าเวลาขึ้นลงบันได ควรปฏิบัติอย่างไร
การลงบันไดย่อมเกิดผลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทำให้ผู้ที่ข้อเข่าเสื่อมอยู่แล้ว ยิ่งเสื่อมขึ้นไปอีก เนื่องจากกระดูกอ่อนจะถูกเสียดสีจนเสื่อมเสียมากขึ้น เกิดกระดูกงอกหรือหินปูนมาแทนที่ ทำให้ผิวกระดูกภายในข้อขรุขระ และยิ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น เนื่องจากข้อเข่าเหยียดออกหรืองอไม่เต็มที่ ในกรณีที่เกิดอาการปวดกะทันหันจนอ่อนแรงลง เกิดจากเยื่อบุผิวภายในข้อหย่อนเกินไป จึงถูกหนีบระหว่างกระดูกในข้อเข่า เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง ทำให้หมดแรงลงทันที
จะเห็นได้ว่า การขึ้นลงบันไดโดยเฉพาะการลงบันไดนั้น มิใช่วิธีออกกำลังกายที่ดีสำหรับผู้ที่ข้อเข่าเสื่อมเพราะกำลังของกล้ามเนื้อไม่เพียงพอที่จะประคองข้อเข่าไว้ให้มั่นคงเวลาก้าวลง ถึงแม้ว่าการก้าวขึ้นบันไดมีผลเสียน้อยกว่าการก้าวลง แต่ในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมอยู่แล้วอาจเกิดผลเสียเช่นเดียวกับการก้าวลงบันไดด้วย จากการเสียดสีทำลายกระดูกอ่อนภายในข้อ และที่สำคัญคือ เมื่อเดินขึ้นบันไดแล้ว ย่อมต้องลงบันไดด้วย เมื่อเข้าใจกลไกของการขึ้นลงบันไดแล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ ควรหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได หรือเดินขึ้นลงบนทางลาดหรือที่ต่ำโดยไม่จำเป็น ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรหาผ้าพันยึดรัดข้อเข่าไว้เมื่อต้องเดินขึ้นลงบันได อาจเดินขึ้นทางบันไดแต่ลงชั้นล่างโดยใช้ลิฟต์
แน่นอน วิธีที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าให้แข็งแรง กล้ามเนื้อที่สำคัญคือ กล้ามเนื้อเหยียดข้อเข่าที่ด้านหน้าของต้นขา ซึ่งกระดูกสะบ้าฝังตัวอยู่ในเอ็นของกล้ามเนื้อนี้บริเวณหัวเข่า โดยเริ่มจากนั่งหรือนอนเหยียดหัวเข่าให้ตรง พยายามเกร็งกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขาให้กดเข่าลง เห็นกระดูกสะบ้าเคลื่อนที่ขึ้นและลงเมื่อผ่อนกล้ามเนื้อ ทำครั้งละประมาณ 5-10 ครั้งทุก 2 ชั่วโมง อาจบริหารกล้ามเนื้อด้วยวิธีนี้ในท่ายืนได้ วิธีการออกกำลังกายนี้ นอกจากช่วยทำให้ข้อเข่ามั่นคงกระชับขึ้นแล้ว ยังทำให้กระดูกอ่อนที่บุผิวกระดูกภายในข้อเข่าเสื่อมช้าลง เพราะเป็นการช่วยให้อาหาร และออกซิเจนดูดซึมเข้ากระดูกอ่อนได้เร็วขึ้น
การออกกำลังกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขา ยังอาจใช้ถุงทรายถ่วงที่ปลายเท้าเพื่อต้านแรงเหยียดข้อเข่าอีก โดยอาศัยหลักการเล่นกล้ามสร้างให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ขึ้น แต่ทั้งนี้การเล่นกล้ามนั้นต้องใช้น้ำหนักมากที่สุดที่ขาจะยกได้ กล้ามเนื้อจึงจะโตและแข็งแรงกว่าปกติได้
การนั่งยองๆ เป็นอีกท่าหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่อาจใช้เป็นท่าทดสอบว่า ข้อเข่าติดขัดในท่างอหรือไม่ กล้ามเนื้อมีกำลังพอที่จะพยุงข้อเข่าหรือไม่ เพราะข้อเข่าที่ติดขัดย่อมนั่งยองๆ ไม่ได้ และกล้ามเนื้อที่อ่อนแอย่อมไม่สามารถลุกยืนตัวตรงจากท่านั่งยองๆ ดังกล่าวได้
ความเชื่อที่ว่า ข้อเข่าเสื่อมเพราะการนั่งพับเพียบนั้น อาจจะไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง แต่การนั่งพับเพียบเป็นเวลานานๆ ทำให้การซึมผ่านของอาหารไปยังกระดูกอ่อนเป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้เร็ว ทั้งนี้ชาวออสเตรเลียที่ไม่เคยนั่งพับเพียบเลยมีสถิติข้อเข่าเสื่อมมากไม่แพ้ประเทศไทย
ข้อเข่าเสื่อมจึงมีสาเหตุได้ 2 สาเหตุใหญ่ คือ การใช้ข้อเข่ามากเกินไป เช่น น้ำหนักมากไป ขึ้นลงบันไดมากไป วิ่งมากไป และการใช้ข้อเข่าน้อยเกินไป เช่น นั่งเฉยๆ เข้าเฝือกนานเกินไป ดังนั้น การปฏิบัติตนให้ถูกต้องย่อมป้องกันข้อเข่าเสื่อมได้
หากคุณมีอาการเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่ง หรือเริ่มมีเสียงก๊อกแก๊กดังจากหัวเข่าร่วมกับมีอาการปวด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยว่าเกิดจากสาเหตุใด และได้รักษาทันท่วงที หากละเลยอาจทำให้เกิดปัญหาในการทรงตัว หรืออาจเดินไม่ได้ต้องอยู่บนรถเข็น ้
แก้ไขอาการปวดเข่าจากการขึ้นลงบันได เข่ามีเสียงได้อย่างไร?
การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ในกรณีที่เกิดเสียงดังที่เกิดจากข้อเข่าเสื่อม การรักษาในระยะแรกอาจใช้วิธีการบริหารหัวเข่า ถ้าอาการยังไม่มาก อาจเริ่มจากการบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า และกล้ามเนื้อสะโพก รวมถึงหลีกเลี่ยงการงอเข่ามากๆ เมื่อกล้ามเนื้อทั้ง 2 ส่วนนี้แข็งแรงแล้วจะช่วยทำให้ลูกสะบ้าเอียงน้อยลง ช่วยลดแรงกระแทก นอกจากนี้ควรใช้งานข้อเข่าอย่างถูกวิธี รับประทานยาบำรุงข้อ ใช้ที่พยุงข้อ ฉีดยา ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียม หรือวิธีการผ่าตัด แต่หากเป็นหมอนรองกระดูกฉีกขาดอาจใช้วิธีบริหารข้อเข่า ฉีดยา หรือถ้าเป็นมากอาจต้องผ่าตัดส่องกล้อง
ทั้งนี้วิธีแก้ไขรักษาดังที่กล่าวมาจำเป็นต้องทำร่วมกับการลดน้ำหนักตัว เพราะน้ำหนักตัวมีผลต่อแรงกระแทกบริเวณข้อเข่า หากเรามีน้ำหนักตัวที่พอดี ก็จะช่วยลดแรงกระแทกภายในข้อเข่าลงไปได้ และหลีกเลี่ยงการยืน เดินนานๆ เพราะจะทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักตัวตลอดเวลา และเพิ่มอาการบาดเจ็บมากขึ้น
arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี