Posted on Leave a comment

หลัง “ผ่าเข่า” สิ่งที่คุณควรทราบ และปฏิบัติ

ผ่าเข่า

การผ่าตัดทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดใดก็ตามจะมีความเสี่ยงที่พบได้ทั่วไป อันได้แก่ ความเสี่ยงของการให้ยาระงับความรู้สึก ภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรม และความเสี่ยงของการผ่าตัด ในผู้ป่วยทั่วไปจะมีโอกาสเกิดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนได้น้อย ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น และส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อนถึงแก่ชีวิตได้ ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ (แต่ไม่จำกัดอยู่เพียงเท่านี้)

  • ข้อเข่าประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน ได้แก่ กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกสะบ้า ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัว มีลักษณะการเคลื่อนไหวแบบบานพับ คือ งอและเหยียด ผิวข้อเป็นกระดูกอ่อนที่เรียบมัน มีน้ำหล่อเลี้ยงเข่าช่วยลดการเสียดสี มีหมอนรองกระดูกช่วยในการรับน้ำหนัก และมีเอ็นภายในและภายนอกข้อเข่าและกล้ามเนื้อยึดอย่างแข็งแรง
  • เข่าที่เสื่อมสภาพจะมีความผิดปกติของผิวกระดูกอ่อนและน้ำหล่อเลี้ยงเข่า ทำให้เกิดการเสียดสี และ เจ็บปวดระยะแรกจะรู้สึกปวดเมื่อยและตึงบริเวณข้อพับเข่าหรือ น่อง โดยเฉพาะเวลาขึ้นลงบันได เมื่อขยับข้อเข่าอาจได้ยินเสียงดังในข้อ มีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหวหรืออากาศเย็น เมื่อเป็นมากขึ้นจะทำให้เข่าหลวมและโก่งผิดรูปทำให้เดินลำบาก
  • การรักษาเริ่มด้วยการใช้ยา บริหาร ทำกายภาพบำบัด ลดน้ำหนัก การพักและจำกัดกิจกรรม ในกรณีที่ไม่ได้ผลยังมีอาการปวดมาก  รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถเดินได้ จำเป็นต้องผ่าตัด
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นการเปลี่ยนผิวข้อกระดูกที่เสียไปแล้วทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้นลดความเจ็บปวด เคลื่อนไหวได้ดี และไม่โก่งงอ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้

อาการหลังผ่าเข่า

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้น กล้ามเนื้อและเอ็นต่าง ๆ รอบข้อเข่าต้องการเวลาที่จะสมานแผล ดังนั้นหลังจากที่ผู้ป่วยได้กลับบ้านแล้ว การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา การเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อขา และการเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันให้ได้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ภาวะการติดเชื้อที่ข้อเข่าเทียม ภาวะเส้นเลือดดำที่ขาอุดตัน หรือการที่ผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดเข่าที่ผ่าตัดได้ตรง สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากที่ผู้ป่วยกลับไปอยู่บ้านแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด ตามวิธีปฏิบัติตนภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

อาการหลังผ่าเข่า

สิ่งที่ควรปฏิบัติของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ผ่าเข่าเสื่อม พักฟื้น และ การดูแลตัวเองหลังผ่าเข่า

  • บริหารหัวเข่าและกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอ และพยายามงอเข่าให้ได้มากที่สุดและเริ่มฝึกให้เร็วที่สุดหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกต้องขยันฝึก เพื่อป้องกันข้อเข่าติดแข็ง งอหรือเหยียดเข่าได้ไม่เต็มที่ จะทำให้การเดินไม่ปกติได้
  • การฝึกขึ้นลงบันไดให้เอาขาข้างดีหรือข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดขึ้นก่อน แต่ในการลงบันไดให้เอาขาข้างที่เจ็บหรือข้างที่ผ่าตัดลงก่อน การใช้ไม้เท้าหรือเครื่องค้ำยันระหว่างเดินขึ้นลงบันไดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • ใน 2 สัปดาห์แรก ควรฝึกเดินด้วยไม้ค้ำยันหรือคอกช่วยเดิน เพื่อช่วยพยุงน้ำหนักไม่ให้กดทับหัวเข่ามากเกินไป และป้องกันการลื่นล้ม เมื่อผู้ป่วยมีความมั่นใจและแข็งแรงขึ้นจึงค่อยเดินโดยไม่ใช้เครื่องค้ำยัน
  • ทุก 1-2 ชั่วโมง ควรฝึกเดินในระยะสั้นๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อค่อยๆ แข็งแรงขึ้นและไม่ยึดติด แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทางหรือเวลาการฝึกให้มากขึ้น
  • หลังการฝึกเดินหรือเมื่อต้องนั่งห้อยขาเป็นเวลานาน ควรหาเวลานอนพักและยกปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจโดยใช้หมอนหนุนบริเวณขา เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งของเลือดและของเหลวในร่างกาย ควรวางแผ่นประคบเย็นที่เข่าเพื่อลดอาการบวม
  • การทำกิจวัตรประจำวัน ควรทำอย่างช้าๆ เช่น เวลาเอี้ยวตัว หมุนตัว ก้มตัว ลุกขึ้นนั่งจากที่นอน การล้มตัวลงนอน การลุกขึ้นยืน ไม่ควรทำอย่างทันทีทันใด ผู้ป่วยสามารถนอนตะแคงทับขาข้างที่ผ่าตัดได้ แต่ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่าให้ขาข้างที่ผ่าตัดถูกทับนานเกินไป
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน เพื่อช่วยลดแรงกระแทกและให้เข่าเทียมไม่ต้องรองรับน้ำหนักมากเกินไป
  • หลังจากเดินคล่องและหายเจ็บแล้ว อาจเพิ่มการออกกำลังกายแบบไม่ใช้แรงกระแทก เช่น การเดินในน้ำ ว่ายน้ำ โดยต้องแน่ใจว่าแผลหายและแห้งสนิทแล้ว โดยควรปรึกษาแพทย์ ส่วนการเดินเร็ว ขี่จักรยาน หรือรำไทเก็กควรเริ่มจากเบาๆ และใช้เวลาไม่มากเกินไป
  • ดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หากจะต้องมีการรักษาฟัน ขูดหินปูน ทำฟัน ถอนฟัน หรือรักษาโรคอื่นๆ ใน 2-3 ปีหลังจากการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเคยได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมมาก่อน เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาให้ยาป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจลุกลามไปถึงข้อเข่าเทียมได้จากการทำฟันหรือการผ่าตัด
  • เข้าพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อประเมินสุขภาพเข่า รวมถึงการเอกซเรย์หัวเข่า และการตรวจร่างกายตามที่แพทย์แนะนำ

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

  • ใน 3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ไม่ควรขับรถ หลังจากนั้นควรขับรถในระยะที่ไม่ไกลนักก่อน
  • ใน 6 สัปดาห์แรกหลักการผ่าตัด ไม่ควรยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม
  • ในระยะแรกไม่ควรนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งบนเก้าอี้เตี้ย หรือเดินขึ้นลงบันไดบ่อยเกินไป
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ ที่ต้องงอหัวเข่ามากๆ หรือยืด-หดหัวเข่าอย่างรวดเร็ว
  • หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะ กระแทก กระโดดหรือใช้เข่ามากๆ เช่น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล แบดมินตัน เทนนิส วิ่ง
  • หลีกเลี่ยงการเดินหรือทำกิจกรรมในที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่เดินบนพื้นที่เปียก โดยเฉพาะบริเวณห้องน้ำ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่อยู่ในท่วงท่าที่ต้องบิดเข่าหรืองอเข่าเกินกว่า 90 องศา

arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี