ถ้าผิวของข้อเข่าได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการอักเสบของข้อเข่าหรือจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได ถ้ามีความเสียหายรุนแรงขึ้นจะรู้สึกปวดแม้ขณะนั่งหรือนอน การรักษาอาจเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งานของเข่า ยาลดการอักเสบ หรือการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน ถ้าการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement) ซึ่งเป็นการผ่าตัดตัดผิวที่เสียหายออกใส่ผิวใหม่ที่เรียบมันซึ่งทำจากโลหะและพลาสติกเข้าไปแทน เพื่อให้เข่ากลับไปใช้งานได้ตามเดิมอีกครั้ง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเริ่มมีการผ่าตัดครั้งแรกในปี 1968 หลังจากนั้นการผ่าตัดนี้ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านวัสดุที่ใช้และวิธีการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดให้ผลดีขึ้น
สาเหตุที่การทำงานของเข่าเสียไป
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาวะข้อเข่าอักเสบ (Arthritis) ที่อาจเกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ (Rheumatoid) และการอักเสบจากอุบัติเหตุ
- ข้อเข่าเสื่อม มักเกิดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี เกิดจากการเสื่อมของผิวกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูก ทำให้กระดูกที่แข็งและไม่เรียบถูเสียดสีกัน ทำให้เกิดเสียงเวลาขยับเข่า มีอาการปวด และติดขัดเวลางอเข่า
- ข้ออักเสบเรื้อรัง ที่พบบ่อย คือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยข้ออักเสบเรื้อรังจะทำให้เยื่อหุ้มข้ออักเสบหนาตัวขึ้น มีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อมากขึ้นทำให้เข่าบวมแดง เมื่อมีการอักเสบนานจะทำให้ส่วนกระดูกถูกทำลายไป
- ข้ออักเสบจากอุบัติเหตุ กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากอุบัติเหตุ จากแรงกระแทกที่รุนแรง หรือจากการแตกร้าวของกระดูกและกระ ดูกอ่อน ซึ่งเป็นผลทำให้ผิวข้อเสียไม่เรียบ
การผ่าตัดเข่าเปลี่ยนข้อเทียม
การรักษาข้อเข่าอักเสบเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งาน ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดและกระแทกที่เข่า เช่น การนั่งยองๆ, คุกเข่า, ขึ้นลงบันได, วิ่ง หรือการยกของหนัก ทานยาเพื่อลดการอักเสบในเข่า การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้เข่ามีการเคลื่อนไหวที่มั่นคง ถ้าการรักษาเหล่านี้ไม่ได้ผล อาจพิจารณาฉีดยาเข่าในข้อเข่าเพื่อลดการอักเสบและเพื่อเพิ่มการหล่อลื่นในเข่า เช่น ยาพวกสเตอรอยด์ (Steroid) หรือน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมสังเคราะห์ หากยังไม่ได้ผลอาจใช้วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจทำให้ผู้ป่วยลดการเจ็บปวดและสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสมควรทำในผู้ป่วย
- ปวดเข่ามากจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น ปวดมากเวลาเดิน ขึ้นลงบันได ลุกหรือนั่ง
- ปวดเข่าเวลาพัก เช่น ปวดเวลานอน
- มีการอักเสบบวมแดงของเข่า โดยมีอาการบ่อยและเรื้อรัง
- มีการผิดรูปของเข่า เช่น เข่าโค้งออก หรือเกเข้าใน
- ขยับเข่าติดขัดลำบาก งอ หรือเหยียดเข่าลำบาก
- ใช้การรักษาแบบอื่น เช่น เปลี่ยนวิธีการใช้งาน ยาทาน หรือการฉีดยาเข้าในเข่าไม่ได้ผล
ส่วนใหญ่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะทำในผู้ป่วยอายุ 60 – 80 ปี การพิจารณาผ่าตัดจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ก่อนการรักษาจำเป็นต้องตรวจ
- ประวัติสุขภาพทั้งหมด อาการ ลักษณะการปวดเข่า และความสามารถในการใช้งานของเข่า
- ตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของเข่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ เข่า และความแข็งแรงของเอ็นรอบๆ เข่า
- X-Ray เพื่อดูพยาธิสภาพ ความเสียหายของเข่า
- บางครั้งอาจต้องมีการตรวจเลือด X-Ray พิเศษ หรือตรวจ MRI เพื่อดูสภาพของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆ รอบกระดูก
ผลการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม
มากกว่า 90 เปอร์เซ็นของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะรู้สึกเจ็บปวดลดลง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ กิจกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือ กีฬาที่มีแรงกระแทกรุนแรงที่ข้อเข่า เช่น การวิ่งหรือกระโดด ซึ่งแรงกระแทกจะทำให้ส่วนที่เป็นพลาสติกเสื่อมสภาพเร็วขึ้น นอกจากนี้การนั่งคุกเข่า นั่งยองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนั่งส้วมแบบนั่งยองๆ ควรหลีกเลี่ยงเด็ดขาด
ชนิดของข้อเข่าเทียม
- ชนิดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด (Total Knee Replacement) ตัดผิวข้อทั้งส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) และแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยมีแผ่นพลาสติกกั้น
- ชนิดเปลี่ยนเพียงด้านเดียวของผิวข้อ (Unicompartmental Knee Replacement) โดยเปลี่ยนผิวทั้งด้านต้นขาและกระดูกหน้าแข้งเฉพาะด้านที่มีอาการเสื่อม ข้อดีของการผ่าตัดแบบนี้ คือ แผลเล็ก การตัดกระดูกและเนื้อเยื่อต่างๆ น้อย ผลทำให้การเจ็บปวดน้อยลง และกล้ามเนื้อกลับสู่สภาพปกติเร็วขึ้น แต่ข้อจำกัดของการผ่าตัดแบบนี้ คือ เหมาะกับเข่าที่มีพยาธิสภาพน้อยเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของเข่า
ปัญหาสำคัญหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมที่พบได้บ่อยๆ คือ
การติดเชื้อหลังการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมซึ่งมีโอกาสพบได้ใน 1-2% ข้อเข่าหลวมหลังจากการใช้งานที่ยาวนาน
ข้อเข่ายึดติดไม่สามารถงอเข่าหรือเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมไปแล้ว นานวันเข้าแม้จะไม่มีการแสดงอาการถึงความเจ็บปวดของข้อเข่า จึงไม่ได้ไปพบแพทย์ตามที่นัดเพื่อตรวจดูอาการ เพราะอาจจะคิดไปเองว่าไม่เป็นอะไรแล้ว แต่นั่นอาจเป็นบ่อเกิดของปัญหาใหญ่ที่จะทำให้ข้อเข่านั้นเกิดการติดเชื้อของข้อเข่าเทียมที่เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อนหน้านี้ก็เป็นได้ เพราะผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมนั้นควรได้รับการตรวจดูอาการตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
การดูแลหลังผ่าตัด
วิธีการดูแลหลังการผ่าตัด สิ่งที่สำคัญโดยปกติแพทย์ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อตรวจดูอาการหลังจากผ่าตัดที่ 1 สัปดาห์ และสัปดาห์ที่ 2 แพทย์จะนัดมาดูแลผ่าตัดว่า มีลักษณะที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อหรือไม่ หลังจากนั้นแพทย์ก็จะนัดอีก 1 เดือน 3 เดือน 6เดือน และ 1 ปี ตามลำดับ จากนั้นทุกๆ 1 ปี แพทย์จะนัดติดตามดูอาการ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะเริ่มแรก สุดท้ายนี้ ผู้ป่วยที่จะต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม มีข้อควรพิจารณาเพื่อใช้ประกอบในการผ่าตัดคือ ผู้ป่วยควรเตรียมร่างกายให้พร้อม มีโรคประจำตัวอย่างไรต้องรักษา เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่นถ้ามีโรคเบาหวานก็ต้องรักษาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พิจารณาเลือกใช้ข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐานและประการสุดท้ายคือ พิจารณาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐานและมีประสบการณ์
arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี