กระดูกเข่าเสื่อม คือ ภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า มีการสึกหรอและเสื่อมอย่างช้าๆ และจะเป็นมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึดติด มีเสียงดังในเข่า เข่าผิดรูปไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
โรคกระดูกข้อเข่าเสื่อมนี้เกิดจากการเสื่อมตามอายุขัยส่วนใหญ่ เกิดกับข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่าและข้อกระดูกสันหลัง ปัญหาปวดเข่าพบได้มากในผู้สูงอายุหญิงมากกว่าชาย เนื่องจากขนบธรรมเนียมไทยที่ต้องนั่งคุกเข่าพับเพียบ ขัดสมาธิ ซึ่งเป็นท่าที่ทำให้ข้อเข่าถูกกดพับ และเอ็นกล้ามเนื้อถูกยึดมาก การนั่งเช่นนั้นนานๆ ทำให้การหมุนเวียนของเลือดไปเลี้ยงเข่าไม่ได้ดี และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย อีกทั้งต้องทำงานหนักไม่มีการพัก ประกอบกับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เข่าต้องแบกน้ำหนักส่วนเกินนั้น กล้ามเนื้อจึงหย่อนสมรรถภาพลง จึงทำให้เป็นโรคกระดูกเข่าเสื่อมได้ง่าย
สาเหตุหลักๆ ของกระดูกเข่าเสื่อมได้แก่
- เป็นผลจากความเสื่อม และการใช้เข่าที่ไม่ถูกต้องมานาน
- ความอ้วน น้ำหนักตัวมากๆ ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น
- เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณเข่ามาก่อน เช่น กระดูกบริเวณเข่าหัก, ข้อเข่าเคลื่อนหลุด, เส้นเอ็นฉีกขาด หรือหมอนรองเข่าฉีกขาด
- โรคข้ออักเสบ เช่น โรคเก๊าท์ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
กระดูกเข่าเสื่อมมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง
- อายุ การเกิดข้อกระดูกเข่าเสื่อมจะพบมากตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- เพศ พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย
- พันธุกรรม อาจมีคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกเข่าเสื่อมร่วมด้วย
- ภาวะอ้วน น้ำหนักตัวที่มากขึ้น ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกดทับมากขึ้น
- การได้รับบาดเจ็บ เช่น การมีเอ็นไขว้หรือหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด หรือมีกระดูกผิวข้อแตก
มีวิธีการรักษาอย่างไร และสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อกระดูกเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ โดยจุดมุ่งหมายในการรักษา คือ ช่วยบรรเทาอาการปวด ช่วยให้หน้าที่การใช้งานของข้อกลับคืนสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด และป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปของข้อ วิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค การใช้งานที่คาดหวังและความพร้อมของผู้ให้การรักษา
วิธีป้องกันและการปฏิบัติ
- ควบคุมไม่ให้อ้วนเกินไป โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
- บริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อนั้นให้แข็งแรง (วิธีการบริหารดูในการออกกำลังกาย)
- ลดการใช้งานข้อนั้นในท่าที่ผิดจากธรรมชาติ เช่น การนั่งยองๆ การนั่งพับเพียบ คุกเข่าและการนั่งขัดสมาธินานเกินไป เป็นต้น
- ขณะที่มีอาการปวด ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การรักษาภาวะอักเสบของข้อ แล้วเริ่มทำกายภาพบำบัดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
- อาการปวดเริ่มแรกสามารถบรรเทาด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอล, การใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบจะช่วยลดการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ ขณะที่มีอาการปวดอยู่ควรหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินมาก ถ้าเดินควรใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวเวลาเดินและใส่สนับเข่าเพื่อช่วยให้ข้อเข่ากระชับ
- ควรหลีกเลี่ยงการนั่งกับพื้น เช่น การนั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิและนั่งยองๆ ควรนั่งเก้าอี้ห้อยขา หรือนั่งเหยียดขาตรง อย่านั่งนานๆ ควรเปลี่ยนอริยาบถบ่อยๆ และควรใช้โถส้วมแบบนั่งแทนแบบนั่งยองๆ
- ลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกดกระแทกที่ข้อเข่าเวลาเดินหรือยืน
- บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าอย่างสม่ำเสมอ
- ถ้าอาการไม่ทุเลาควรปรึกษาแพทย์
arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี