ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคนและมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น โรคข้อเข่าเสื่อมก่อให้เกิดความเจ็บปวด ขาโก่ง เข่าผิดรูป ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวในที่ต่างๆได้ อาการปวดข้อในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการปวดตอนเดิน หรือยืนนานๆอาการปวดจะค่อยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะที่นั่งอยู่เฉยๆมักจะไม่มีอาการปวด เมื่ออาการเป็นมากขึ้นเข่าจะเริ่มมีอาการผิดรูป เข่าโก่ง หรือเข่าฉิ่งร่วมด้วย โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดเนื่องจากมีการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ร่วมกับน้ำหนักของร่างกายที่มากจึงทำให้เกิดการเสื่อมของข้อเข่าได้มากขึ้น
กลูโคซามีนคืออะไร
กลูโคซามีน (glucosamine) เป็นสารประกอบประเภทน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ที่ปกติถูกสร้าง และพบในร่างกายของทุกคนอยู่แล้ว กลูโคซามีนจะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารขนาดโมเลกุลใหญ่ เช่น โปรตีโอไกลแคน, ไกลโคโปรตีน, ไกลโคสามิโนไกลแคน, กรดไฮยาลูโรนิก สารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบในเนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดของร่างกาย โดยจะพบได้มากที่กระดูกอ่อน ซึ่งจะอยู่ที่บริเวณส่วนปลายของกระดูกโดยเฉพาะที่ข้อต่อ กระดูกอ่อนนั้นประกอบด้วยเมทริกซ์ของเส้นใยคอลลาเจนที่มีโปรตีโอไกลแคนอยู่ภายใน โดยโปรตีโอไกลแคนเป็นสารโมเลกุลใหญ่ที่มีความสามารถในการดึงน้ำเข้ามาหาตัวเองได้ดี จึงทำให้กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อได้ ซึ่งจัดเป็นบทบาทสำคัญของกลูโคซามีนในเรื่องการทำงานของข้อ นอกจากนี้กลูโคซามีนยังมีผลยับยั้งการทำงานของสารอักเสบได้หลายชนิด จึงมีผลลดการอักเสบของข้อด้วย
โดยกลูโคซามีนที่มีจำหน่ายแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ตามการขึ้นทะเบียน คือ (1) ยาอันตราย และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันในขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียน รวมถึงเอกสารที่จำเป็นในการขอขึ้นทะเบียน กล่าวคือ กลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม ซึ่งจะต้องมีเอกสารยืนยันถึงการศึกษาทางการแพทย์ที่แสดงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารดังกล่าว และการใช้ยาจะอยู่ภายใต้การสั่งใช้จากแพทย์เท่านั้น ส่วนกลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงใช้รับประทาน นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ และในการขอขึ้นทะเบียนไม่จำเป็นต้องแสดงการศึกษาทางการแพทย์ประกอบ สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้มีกลูโคซามีนชนิดที่เป็นยาอันตรายเท่านั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และจำหน่ายในประเทศได้
กลูโคซามีนใช้กับผู้ป่วยโรคเข้าเสื่อม
กลูโคซามีนใช้ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าเสื่อมในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าแต่เพียงอย่างเดียว อาการปวดข้อเข่าพบในผู้ป่วยในหลายอายุ ในวัยหนุ่มสาวหากนั่งทำงานโดยไม่ค่อยบริหารและออกกำลังข้อเข่า อาจมีภาวะกระดูกอ่อนสะบ้าอักเสบ ที่เรียกว่า Chondromalacia Patellae
ภาวะนี้มีอาการปวดเข่าเมื่อเดินขึ้นลงบันได ไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากลูโคซามีน ในวัยหนุ่มออกกำลังกาย อาจมีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนหมอนรองข้อเข่า ที่เรียกว่า Meniscal Tear มีอาการเจ็บในข้อเข่า ไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากลูโคซามีน ผู้ป่วยวัยสาวมีอาการเจ็บข้อเข่าด้านใน เกิดจากการเสียดสีของพังผืดในข้อเข่า เรียกว่า Medial Plica ไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากลูโคซามีน ยากลูโคซามีนควรใช้ในฐานะยากับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเท่านั้น แต่ในฐานะอาหารเสริม คงต้องศึกษาผลดีผลเสียก่อนใช้
กลูโคซามีนใช้ได้ดีแค่ไหนกับผู้ป่วยเข่าเสื่อม
ด้านประสิทธิภาพของกลูโคซามีนต่อโรคข้อเสื่อม พบว่าการศึกษาทางการแพทย์ขนาดใหญ่ส่วนมากเป็นการศึกษาโดยใช้กลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine sulfate) ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับกลูโคซามีนซัลเฟตในขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 3 ปี ช่วยลดอาการปวด และช่วยลดการแคบของข้อได้เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา (หรือใช้ยาหลอก) แต่การใช้กลูโคซามีนซัลเฟตในระยะสั้น เช่น 3-6 เดือน พบว่าผลการศึกษามีทั้งสองแบบ คือ ให้ผลดีในการรักษา และไม่เห็นความแตกต่างในการรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยา นอกจากนี้การศึกษาในผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อมก็ไม่แสดงประโยชน์เหนือกว่าการไม่ใช้ยาเช่นกัน สำหรับกลูโคซามีนในรูปแบบอื่นนั้น พบว่ามีการศึกษาทางการแพทย์บ้าง แต่เป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็ก จำนวนผู้ป่วยที่ใช้ศึกษาน้อย เช่น การใช้กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่ากลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ให้ประสิทธิภาพในการระงับปวดในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ไม่แตกต่างจากกลูโคซามีนซัลเฟต
ข้อควรระวังการใช้กลูโคซามีน
จากข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์ของกลูโคซามีนดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของกลูโคซามีนในโรคข้อเสื่อมนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น รูปแบบเกลือของกลูโคซามีน ตำแหน่งข้อที่เกิดการเสื่อม ขนาดยาที่ใช้ ระยะเวลาในการใช้ ซึ่งผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะรับประทานกลูโคซามีน โดยเฉพาะในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถหาซื้อได้เองจากร้านขายยาทั่วไป ควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เข้าใจ หรือปรึกษาแพทย์/เภสัชกรเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับให้มากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้กลูโคซามีนแล้ว กลูโคซามีนในทุกรูปแบบยังมีข้อควรระวังและทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วย ดังนี้
- อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจากการรับประทานกลูโคซามีน คือ คลื่นไส้ ท้องเสีย แสบท้อง ปวดท้อง ท้องอืด นอกจากนี้ยังอาจพบอาการง่วงซึม ผื่นแพ้ผิวหนัง แพ้แสง ปากคอบวม (angioedema) หรือกระตุ้นให้เกิดการจับหืดได้
- ควรระมัดระวังการแพ้ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง ปู เพราะกลูโคซามีนที่มีจำหน่ายสังเคราะห์มาจากเปลือกของสัตว์ดังกล่าว
- ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะถ้าไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายการรักษา เพราะมีรายงานในสัตว์ทดลองว่ากลูโคซามีนทำให้การหลั่งอินซูลินลดลงได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่พบรายงานดังกล่าวในคนก็ตาม
arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี