ปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้สูงอายุในประเทศไทย จากสถิติพบว่าประชาชนคนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมกว่า 6 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่ มักมีอาการปวดเข่าเวลาเดิน
โดยเฉพาะตอนเดินขึ้นบันได อาการปวดส่วนมากมักเป็นบริเวณด้านในของข้อเข่า เวลานั่งอยู่เฉยๆ มักไม่มีอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเดิน สูญเสียความมั่นใจ มีผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางกรณี ที่ผู้ป่วยมีข้อเข่าเสื่อมและขาโก่งมากๆ นั้นมีผลทำให้การเดินของผู้ป่วยผิดปกติไป มีโอกาสเกิดการหกล้มและทำให้เกิดการหักของกระดูกบริเวณตะโพก ทำให้ผู้ป่วยเกิดทุพพลภาพเพิ่มมากขึ้น
ในผู้สูงอายุมักมีอาการข้อเข่าเสื่อม ทำให้การเคลื่อนไหวผิดปกติ ต้องได้รับการรักษา วิธีหนึ่งคือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งมีความเสี่ยงในเรื่องของการติดเชื้อ ดังนั้นผู้ป่วยต้องเตรียมตัวก่อนการรักษาและดูแลหลังการรักษาให้ถูกต้อง โดยครั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม และการดูแลหลังผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยเฉพาะ รวมถึงข้อมูลการรักษาหลังติดเชื้อ
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
- มีอาการปวด เพราะจุดประสงค์ในการรักษาคือบรรเทาอาการปวดและเพิ่มการเคลื่อนไหว
- มีการเคลื่อนไหวของข้อที่ผิดปกติ เช่น เหยียดหรืองอเข่าไม่สุด เข่าผิดรูป (เข่าโก่งหรือเกออกด้านนอก)
- ควรผ่านการรักษาด้วยวิธีอื่นมาก่อน หากผลลัพธ์ไม่ดี จึงผ่าตัดตามลำดับ
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมควรมีอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใส่มีโอกาสสึกหรอตามกาลเวลา หากผ่าตัดก่อนอายุ 40 ปี จะมีการผ่าตัดครั้งต่อไปตามมา โดยปกติแล้วอุปกรณ์จะมีอายุประมาณ 15-20 ปี
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าในคนที่ได้รับอุบัติเหตุ
ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุและเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามีบ้าง แต่ปกติแล้วผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุมักมีอาการกระดูกหัก ต้องได้รับการผ่าตัดยึดกระดูกก่อน หากกระดูกแตกเป็นเศษ ไม่สามารถเรียงข้อให้เรียบได้ มีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมตามมาได้ แต่ถึงอย่างไรการพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมก็ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย
ข้อห้ามในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
- ผู้ที่มีการติดเชื้อในเข่า และยังรักษาไม่หายขาด
- ผู้ที่มีการติดเชื้อบางอย่างในร่างกาย เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในช่องปาก เป็นต้น
- ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมร่วมกับกล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมไม่สามารถแก้ไขภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ คนไข้จะไม่สามารถใช้งานขาได้ กรณีนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยแนวทางอื่น
- ผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมร่วมกับการสูญเสียการทำงานของเส้นประสาทรับความรู้สึก (charcot’s arthropathy) คนกลุ่มนี้ไม่รู้สึกเจ็บที่เข่า แต่การผ่าตัดมีจุดประสงค์คือลดอาการบาดเจ็บ จึงไม่จำเป็นต้องผ่า นอกจากนี้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสประสบความไม่สำเร็จสูง เช่น มีการหลวมของข้อเทียมก่อนสมควร อากาสการติดเชื้อของข้อเทียมที่สูง เป็นต้น หากจำเป็นต้องผ่าตัดเนื่องจากข้อเข่าผิดรูป อาจพิจารณาผ่าตัดรูปแบบอื่นได้ ขึ้นอยู่กับกรณี
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
เช็คสุขภาพโดยละเอียด ตรวจคัดกรองเกี่ยวกับการติดเชื้อ หากคนไข้ติดเชื้อที่บริเวณใด ต้องได้รับการรักษาอาการติดเชื้อนั้นให้หายดีก่อน จึงเข้ารับการผ่าตัดได้
ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
- การผ่าตัดใช้เวลา 1½-2 ชั่วโมงต่อการผ่าตัดขาหนึ่งข้าง
- การฟื้นตัว หลังผ่าตัดประมาณ 3-4 เดือน ฟื้นตัวร้อยละ 80-90 และฟื้นตัวเต็มที่ใกล้เคียงปกติ หลังผ่าตัด 1 ปีขึ้นไป
การดูแลหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
- ให้คนไข้เดินได้เท่าที่ทนไหวหรือเท่าที่ไม่มีอาการเจ็บ
- หากมีปัญหาเรื่องน้ำหนัก ควรลดน้ำหนักก่อนถ้าทำได้ ค่อยเริ่มเดิน แต่ไม่ถึงกับเป็นข้อห้าม
- ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือการติดเชื้อในข้อเข่าหลังผ่าตัด เพราะในคนที่ผ่าตัดจะมีอวัยวะเทียมอยู่ในร่างกาย ซึ่งบริเวณข้อเข่าเทียมเป็นบริเวณที่ภูมิคุ้มกันเข้าไม่ถึง เมื่อมีการติดเชื้อขึ้นจึงรักษาได้ยาก โดยทุกคนที่ผ่าตัดจะมีความเสี่ยงเรื่องของการติดเชื้อประมาณร้อยละ 1 จึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ หากไม่สบายให้รีบพบแพทย์
- ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของข้อเข่าเทียม คือหัตถการที่เกี่ยวข้องกับช่องปากและทางเดินปัสสาวะ ดังนั้นการพบทันตแพทย์หรือแพทย์ที่เกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ต้องแจ้งก่อนทุกครั้งว่าเคยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
arukouthailand ผลิตภัณฑ์ซัพพอร์ตเข่า คุณสามารถปรึกษาเกี่ยวกับเข่าของคุณกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรี